บวท.ปักหมุด ปี 69 ปลุกเส้นทางบินใหม่ ไทย-ลาว-จีน

28 มี.ค. 2567 | 11:20 น.

บวท.จ่อเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ ไทย-ลาว-จีน เร่งถกทางการจีน-ลาว คาดเปิดเส้นทางภายในต้นปี 69 ดันเทคโนโลยีช่วยบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ

ดร. ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค วิทยุการบินฯ ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ มีความพร้อมในการสนับสนุนผลักดันนโยบายของรัฐบาลโดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน

 

ทั้งนี้บวท.มีแผนขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน โดยเป็นเส้นทางบินคู่ขนานกับเส้นทางเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับทางจีน-ลาว หลังจากนั้นจะเสนอต่อ ( ICAO ) พิจารณาเห็นชอบชื่อเส้นทางบิน คาดว่าจะเปิดเส้นทางดังกล่าวได้ภายในต้นปี 69 สามารถเที่ยวบินได้ 200,000 เที่ยวบินต่อปี จากปัจจุบันรองรับเที่ยวบินได้ 100,000 เที่ยวบินต่อปี

"สาเหตุที่มีการเปิดเส้นทางบินดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันการเดินทางทางอากาศจากไทย-จีน มีเส้นทางบินเดียว ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของน่านฟ้าลาว มีชื่อ SAGAG เป็นชื่อจุดรายงานบนเส้นทางบิน A581 และ B218 อยู่ระหว่างเขตรอยต่อของ FIR (Flight Information Region) หรือเขตแถลงข่าวการบินของจีนและ ลาว ซึ่งมีจุดกึ่งกลางที่ทำให้การจราจรทางอากาศติดขัดหนาแน่นจนเกิดปัญหาคอขวด หากสามารถเพิ่มเส้นทางบินนี้ได้จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น"

 

นอกจากนี้ปัจจุบันดีมานด์การเดินทางจากจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีเที่ยวบินบินเข้าไทยฟื้นตัวราว 80% หากเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ประกอบกับตลาดอินเดียยังเป็นตลาดใหม่มาแรงที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2567

ดร. ณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า บวท. คาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินบินเข้าไทยรวมกว่า 9 แสนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณ 8 แสนเที่ยว และจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีจำนวน 1 ล้านเที่ยว เช่นเดียวกับรายได้ของ บวท. ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 - 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีรายได้รวม 1.3 หมื่นล้านบาท

บวท.ปักหมุด ปี 69 ปลุกเส้นทางบินใหม่ ไทย-ลาว-จีน

ขณะเดียวกันบวท.มีการจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานใช้เทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) ในการนำร่องแบบ RNAV2 ที่มีการกำหนดทิศทางการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจากทุกทิศทาง

 

สำหรับการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) มาใช้ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เที่ยวบินสามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางการบิน