อาหารแช่แข็ง-ทูน่า-ปลาป่น กุ้งน้ำหนาว วอนทบทวนค่าธรรมเนียม ผวานักลงทุนหนี

25 ก.พ. 2567 | 07:17 น.

“เก็บค่าธรรมเนียมสัตว์น้ำ” ฝุ่นตลบ “สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง” ชี้เศรษฐกิจแย่ คนไม่มีเงินใช้ ขอให้ทบทวนใหม่เก็บ 50 สต./กก.สูงไปต้องควัก 850 ล้าน/ปี “กุ้งน้ำหนาว” ผวานักลงทุนย้ายฐานไปเวียดนาม “ทูน่า” ยันจ่ายได้แค่ 1-5 สตางค์ “มงคล” ชงดัดหลัง รง.หมึก-ปลา เก็บสูงสุด 10 บาท/กก.

จากปัญหาราคาสัตว์น้ำตกตํ่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นชอบผ่านที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2567 (13 ก.พ.67) มอบหมายให้กรมประมงจัดเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสินค้าสัตว์นํ้า ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อมิให้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการประมงและความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ของไทย

อาหารแช่แข็ง-ทูน่า-ปลาป่น กุ้งน้ำหนาว วอนทบทวนค่าธรรมเนียม ผวานักลงทุนหนี

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์นํ้าตกตํ่า เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ กรมประมง ได้มีการพิจารณาจัดเก็บค่าธรรมเนียมสัตว์นํ้า หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนในการควบคุม เฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดสัตว์นํ้า จึงได้จำแนกกลุ่มของสัตว์นํ้าออกเป็น 4 กลุ่ม ตามระดับความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด (เสี่ยงตํ่า เสี่ยงกลาง เสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงมาก) ที่มีการประกาศจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) จึงได้คิดอัตราค่าธรรมเนียมนำเข้า เฉลี่ย 5 สตางค์ ถึง 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)

อาทิ กลุ่มปลาทูน่าที่ 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม(กก.), กลุ่มปลา 50 สตางค์/กก. , กลุ่มกุ้งทะเล 3 ชนิด และกลุ่มกุ้งก้ามกราม 1 บาท/กก. เป็นต้น โดยมีการปรับลดจากค่าธรรมเนียมสูงสุด 2 บาท /กก. ซึ่งหากที่ อาหารแช่แข็ง-ทูน่า-ปลาป่น กุ้งน้ำหนาว วอนทบทวนค่าธรรมเนียม ผวานักลงทุนหนี ประชุมเห็นชอบจะมอบหมายให้กรมประมงดำเนินการเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อออกกฎกระทรวงตามลำดับต่อไป แต่ปรากฏว่าได้มีผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้

 

 

 

โดยผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวในที่ประชุมใน 4 ประเด็นสำคัญคือ 1. ไทยมีการนำเข้าทูน่าเฉลี่ย 8 แสนตันต่อปี หากมีการเสียค่าธรรมเนียม 25 สตางค์ จะต้องใช้เงินประมาณ 400 ล้านบาทถือว่าสูงมาก ซึ่งสมาคมสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้ 1 สตางค์-5 สตางค์/กก. เท่านั้น 2.เสนอให้มีการเซ็นเอ็มโอยู ซื้อขายปลาโอ ปลาซาร์ดีน และแมคเคอเรลในราคาที่เหมาะสม 3.ยืนยันไม่ซื้อสินค้า IUU หรือสินค้าเถื่อน 4.เห็นด้วยที่จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม แต่มองว่าอัตราสูงเกินไป เพราะกำไรของแต่ละบริษัทมีเพียง 2-3 % เท่านั้น ถ้าปรับลดค่าธรรมเนียมนำเข้า ก็จะสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปช่วยชาวประมงในการยกราคาสัตว์นํ้าให้ดีขึ้นได้

เช่นเดียวกับผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ที่กล่าวว่า ปกติการนำเข้าปลาป่น มีอัตราภาษีนำเข้าอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ปลาป่น โปรตีนตํ่ากว่าร้อยละ 60 อัตราภาษีร้อยละ 6 ปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป อัตราภาษีร้อยละ 15 เป็นต้น ส่วนกรณีปลาเป็ดที่กรมประมงแจ้งตัวเลขนำเข้าย้อนหลัง 3 ปี ปริมาณ 8.3 หมื่นตัน ได้ไปเช็คจากสมาชิกสมาคมฯ พบว่ามีการนำเข้าจริงเพียง 35,000 ตัน เพื่อใช้ผลิตเป็นปลาป่นเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่รู้ไปไหน ก็มีความกังวลว่าหากมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่ต่างกันมากจะทำให้ปลานำเข้าสวมเป็นปลาเป็ด และการจัดเก็บค่าธรรมเนียม กก. 5 สตางค์ ต้นทุนก็จะสูงขึ้น จะกระทบกับสินค้าต่างๆ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อาทิ อาหารสัตว์ เป็นต้น

อาหารแช่แข็ง-ทูน่า-ปลาป่น กุ้งน้ำหนาว วอนทบทวนค่าธรรมเนียม ผวานักลงทุนหนี

ส่วนผู้แทนจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยกล่าวถึงสินค้านำเข้าของสมาชิกส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มปลา ซูริมิ ปลาหมึก และกุ้ง ที่มีการนำเข้าในแต่ละปี 1.7 ล้านตัน หากคิดค่าธรรมเนียมนำเข้า กก.ละ 50 สตางค์ เงินที่จะใช้ในส่วนนี้จะมีมูลค่า 850 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และปัจจุบันเศรษฐกิจโลกถดถอย กำไรของแต่บริษัทลดลงมาก และกำลังซื้อในประเทศก็ถดถอย ทำให้การเก็บค่าธรรมเนียมนี้ไม่สอดคล้องกับกำลังจ่าย เพราะฉะนั้นอยากให้กรมประมงพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับกุ้งนํ้าหนาว ที่นำเข้าจากอาร์เจนตินา หากเก็บค่าธรรมเนียมมองว่าจะทำให้ผู้ที่ลงทุนอาจจะย้ายไปเลี้ยงที่เวียดนามแทนจะส่งผลกระทบทำให้โรงงานต้องเลิกจ้างพนักงานตามมา

 

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

 

ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีเรือประมงพาณิชย์กว่า 9,600 ลำ แต่ออกทำประมงได้ 5,000-6,000 ลำเท่านั้น จากที่รัฐบาลที่ผ่านมาปล่อยให้มีการนำเข้าสัตว์นํ้าแบบไร้การควบคุม โดยนำเข้ามามาแปรรูปส่งออก และยังนำมาขายแข่งตลาดในประเทศด้วยดังนั้นเสนอว่า ในกลุ่มหมึก และกลุ่มปลาที่เป็นตัวปัญหา ควรเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้า กก. ละ 10 บาท โดยขอให้โรงงานซื้อสัตว์นํ้าในประเทศก่อน หากปริมาณไม่เพียงพอจึงนำเข้าจากต่างประเทศ

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,968 วันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567