“ภูมิธรรม” ชี้สินค้ารักษ์โลกในสหรัฐมาแรง 3 กลุ่มสินค้าไทยเด่น โอกาสตลาดสูง

04 พ.ค. 2567 | 04:09 น.

“ภูมิธรรม” ชี้เทรนด์สินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม-ลดโลกร้อนในสหรัฐฯมาแรง เผยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ของใช้ในครัวจากวัสดุรีไซเคิล วัตถุดิบจากธรรมชาติ ใช้พลังงานทดแทน ลดปล่อยของเสียดาวเด่น แนะเจาะตลาด สร้างโอกาสทำเงินเข้าประเทศเพิ่ม

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ทีมพาณิชย์ทำการสำรวจโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุปรารถนา กมลเวชช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ถึงแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืน หลังทั่วโลกตื่นตัวจากภาวะโลกร้อน

โดยในรายงานระบุว่าสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหารและของใช้ในครัว และสินค้ากลุ่มสำหรับทำความสะอาดและจัดระเบียบ ของไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ

รายงานระบุอีกว่า ปัจจุบันความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ Sustainability เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในตลาดเป็นอันดับต้นๆ ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ค้าปลีกในตลาดแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างหันมาให้ความสำคัญในการทำตลาด รวมถึงกลุ่มสินค้าของใช้และของตกแต่งบ้านซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภค  เห็นได้จากงานแสดงสินค้า Inspired Home Show ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าของใช้และของตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือที่เพิ่งจะผ่านไปในปีนี้ ที่ผู้ประกอบการในตลาดต่างนำตัวอย่างสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืนมาจัดแสดงเพื่อทำตลาดในปีนี้

สำหรับสินค้าของใช้และของตกแต่งบ้านสนับสนุนความยั่งยืนที่น่าสนใจได้ และได้รับความสนใจจากผู้บริโภค น่าจะเป็นโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการไทย ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Appliance) เช่น เครื่องผลิตนมจากธัญพืชอัตโนมัติ (Plant Milker) แบนด์ Clean Living ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมทางเลือก (Alternative Milk) ที่ให้ประโยชน์และปลอดภัยต่อสุขภาพปราศจากสารเคมี สารแต่งสี กลิ่น รส

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยช่วยลดขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้บรรจุนมจำหน่ายตามท้องตลาด อีกทั้ง ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้บริโภคในระยะยาวอีกด้วย สินค้าเตาปรุงอาหารไฟฟ้าระบบเหนี่ยวนำ (Induction) ขนาดเล็ก รุ่น Slim Induction Cooktop โดยบริษัท Salton ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าและช่วยลดปริมาณคาร์บอนในสิ่งแวดล้อมด้วย

สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหารและของใช้ในครัว (Kitchenware) ปัจจัยด้านความยั่งยืนมีอิทธิพลสำคัญต่อการออกแบบและผลิตสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมาก เช่น สินค้าอุปกรณ์เครื่องครัว รุ่น Sage Collection ของบริษัท GreenPan ที่ส่วนประกอบเกือบทั้งหมดยกเว้นด้านจับผลิตมาจากวัสดุโลหะนำกลับมาใช้ (Recycle) อย่างน้อยร้อยละ 65 โดยสินค้าเคลือบด้วยวัสดุทนความร้อนสูงไม่ปลดล่อยก๊าซพิษร้อนจัด

อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทดแทนในกระบวนการผลิตร้อยละ 30 และลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างกระบวนการผลิตได้ถึงร้อยละ 60 ด้วย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าชุดเขียงที่ผลิตจากวัสดุขวดพลาสติกนำกลับมาใช้เกือบทั้งหมดที่ปราศจากสาร BPA ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคของบริษัท Farberware และชั้นวางของในครัวจากวัสดุไม้ไผ่ที่สนับสนุนความยั่งยืนทั้งหมดของบริษัท Honey Can Do เป็นต้น

ส่วนสินค้ากลุ่มสำหรับทำความสะอาดและจัดระเบียบ (Clean and Organized) เช่น สินค้าถังแยกประเภทขยะ รุ่น Glad Link and Sort ของบริษัท the Volume Brands ที่ช่วยให้การแยกประเภทขยะสะดวกมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีระบบการควบคุมการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์และเชื้อราต่าง ๆ ด้วย และสินค้าใยขัดทำความสะอาด รุ่น Super Eco Scrubbi ของบริษัท Gleener ใช้สำหรับขัดทำความสะอาดอุปกรณ์ปรุงอาหาร ซึ่งผลิตจากใยมะพร้าว โดยมีคุณสมบัติความคงทน แต่อ่อนนุ่มกับผิวหน้าของอุปกรณ์ และไม่ก่อให้เกิดแบคทีเรีย

สำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งส่งผลทำให้แนวโน้มสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าเพื่อความยั่งยืนได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งจากข้อมูลดัชนีความยั่งยืนของภาคธุรกิจ (Business of Sustainability Index) ซึ่งจัดทำโดยบริษัท Green Pan พบว่าโดยเฉลี่ยร้อยละ 66 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่อายุระหว่าง 18–34 ปี ที่ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืนสูงถึงร้อยละ 80

ปัจจัยดังกล่าวสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและผู้ค้าปลีกในตลาดต่างพยายามแสวงหาสินค้าที่ช่วยสนับสนุนสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบัน เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบการผลิตจากวัสดุนำกลับมาใช้ การลดการใช้วัสดุจากพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเลือกผลิตสินค้าจากวัสดุธรรมชาติ การเลือกใช้พลังงานทดแทน และการลดปริมาณการปลดปล่อยอากาศหรือน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม

“ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดในสหรัฐฯ จึงควรพิจารณาปรับตัวรองรับกับแนวโน้มดังกล่าวเพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในตลาด ซึ่งตนได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแจ้งข่าวและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่สนใจทำตลาดสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกและทำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ทันกลับการค้ายุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสีเขียว”