สบส.ระดมพลังอสม.เคาะประตูบ้านปราบยุงลาย 

06 ต.ค. 2559 | 06:40 น.
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  ระดมพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ    ลุยกระตุ้นประชาชนทุกหลังคาเรือน กำจัดยุงลายทั้งลูกน้ำและยุงตัวเต็มวัยในบ้าน ในวัด โรงเรียน ตามสูตร 3 เก็บ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมทั้งค้นหาหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในหมู่บ้านให้ฝากครรภ์ต่อเนื่อง

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ที่มี 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกหมู่บ้าน ดำเนินการต่อเนื่อง 2 เรื่อง ประการแรก คือ ให้กระตุ้นเตือน ขอความร่วมมือบ้านทุกหลัง  ลงมือช่วยกันกำจัดยุงลายในบ้าน ซึ่งเป็นตัวการก่อโรคทั้ง 3 โรค(โรคไข้เลือดออก โรคปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ตามสูตร 3 เก็บ ได้แก่ เก็บกวาดบ้านเรือนให้โล่งสะอาด เก็บน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเก็บขยะไม่ให้เป็นแหล่งให้ยุงลายวางไข่แพร่พันธุ์ได้  รวมทั้งระดมพลังประชาชน ร่วมกันกำจัดลูกน้ำในวัดและโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ ให้ทำทุก 5-7  วันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับวิธีการทำลายยุงลายนั้น ให้เน้นทั้งขณะที่ยุงยังเป็นลูกน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเปลี่ยนน้ำในภาชนะ เช่นน้ำในแจกันไม้น้ำ ไม้ประดับ น้ำในจานรองขาตู้กับข้าว ทุก 5-7 วัน  ต้องเทน้ำทิ้งทั้งหมด อย่าใช้วิธีการเติมน้ำ เพราะเท่ากับเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตลูกน้ำยุงลาย จนโตเป็นตัวยุงที่บินได้  หรืออาจใช้วิธีใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายลงไป   การรีไซเคิลยางรถยนต์เก่านำมาใส่ดินปลูกต้นไม้แทน อย่าปล่อยให้น้ำขัง ปล่อยปลากินลูกน้ำเช่นปลาหางนกยูง ปลากัดปลากระดี่ เลี้ยงในอ่างบัว-ไม้น้ำเพื่อให้กินลูกน้ำ การใช้ปูนแดงใส่เพื่อปรับสภาพน้ำให้เป็นกรดทำให้ยุงไม่ชอบวางไข่ ส่วนยุงตัวเต็มวัยซึ่งบินได้และเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์มักอาศัยในบ้านกำจัดได้ยาก แต่มีวิธีการง่ายๆที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ได้ผล เช่น การใช้ปี๊บดักยุงลาย โดยใช้ปี๊บขนมปังเก่าเปิดฝาแล้วใช้ผ้าสีทึบหรือดำซึ่งเป็นสีที่ยุงลายชอบหรือใช้เสื้อผ้าที่เปื้อนเหงื่อไคลที่ยังไม่ได้ซัก  ซึ่งสามารถดึงดูดยุงลายเข้ามาในปี๊บ  วิธีการดักให้นำปี๊บเปิดฝาและนำไปตั้งในมุมอับของบ้านในช่วงเย็น หลังจากนั้นจึงปิดฝาปี๊บในช่วงเช้าและนำไปตากแดด 1-2 ชั่วโมงเพื่อให้ความร้อนอบยุงในปี๊บให้ตาย  วิธีการที่กล่าวมาไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก โดยบ้าน 1 หลังอาจจะใช้ปี๊บดักหลายๆใบก็ได้  ซึ่งการกำจัดยุงพร้อมกันทั้ง 2 วิธี จะช่วยลดปริมาณยุงลายลงได้มาก

ประการที่ 2 คือ ให้ อสม.รณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ให้รีบฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์  ซึ่งจะมีผลดีทั้งสุขภาพแม่และทารกในครรภ์  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำการตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ ในการป้องกันการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมียได้ หรือป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารก เช่น เอชไอวีเป็นต้น โดยรณรงค์ให้ฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์มาตรฐาน คือ 5 ครั้งก่อนคลอดและให้หญิงตั้งครรภ์นอนในมุ้งทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อป้องกันยุงกัด

ด้านนายแพทย์นิพนธ์  ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกำจัดหรือลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นวิธีควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลายที่ได้ผลดีที่สุด ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการคุมไม่ให้ยุงเกิด  การฆ่ายุงลายตัวเมียตาย 1 ตัว จะลดปริมาณยุงลายได้ ประมาณ 500 ตัว ซึ่งยุงลายตัวเมียมีอายุประมาณ 45 วัน วางไข่ทุกสัปดาห์ ครั้งละ 80-100 ฟอง  ยุงลายตัวผู้ตัวเมีย 1 คู่ สามารถผลิตลูกหลานได้เกือบ 1 หมื่นตัว ภายในเวลาประมาณ 100 วัน โดยยุงลายจะเริ่มกัดกินเลือดและวางไข่หลังกลายเป็นตัวยุงแล้ว 96 ชั่วโมง