ด่วนพระราม3-กาญจนาภิเษกฉลุย ประมูลปลายปีนี้/เซ็นสัญญาเม.ย.60

13 ต.ค. 2559 | 00:00 น.
คนร.เห็นชอบให้กทพ.นำโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ สคร.เคาะแหล่งทุนกว่า 3.2 หมื่นล้านให้แล้วเสร็จพ.ย. 59 ก่อนเร่งเสนอครม.เปิดประมูลปลายปีนี้

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่าล่าสุดโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ระยะทาง 19 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทขณะนี้ผลการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดซึ่งขณะนี้คืบหน้ากว่า 80% ส่วนรูปแบบการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำลังพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างการใช้เงินกู้และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ และจะสามารถลงนามสัญญาได้ในระหว่างเมษายน-พฤษภาคม 2560

โดยหลักการสำคัญตามแนวคิดในการสร้างความโปร่งใสสำหรับโครงการก่อสร้างภาครัฐขององค์กร คือการจัดให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูล ที่เข้าถึงได้และเข้าใจได้โดยง่าย และการจัดให้มีระบบในการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มความคุ้มค่าและการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ ก่อสร้างภาครัฐ

สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก นั้น คณะกรรมการ(บอร์ด)กทพ.ได้มีข้อสังเกตในการประชุมบอร์ด กทพ. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 ให้นำโครงการฯ เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสการก่อสร้างภาครัฐ และต่อมา กทพ. ได้มีหนังสือแจ้ง สคร. เพื่อขอนำโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ และล่าสุด สคร.แจ้งว่าคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบให้โครงการทางด่วนสายนี้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ แล้ว

"กทพ. ได้มีคำสั่งการทางพิเศษที่ 284/2559 ลงวันที่ 26 กันยายน 2559 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ โดยโครงการนี้จะสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 เดิม ถือเป็นสะพานสำรองกรณีต้องปิดซ่อมและเพื่อเป็นการรักษาอายุการใช้งานของสะพานพระราม 9 รวมถึงแบ่งเบาการจราจร ประกอบกับโครงการมีปัญหาการเวนคืนที่ดินค่อนข้างน้อยเพียงแค่ 6 ไร่ จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่มากเนื่องจากใช้ที่ดินเดิมของ กทพ."

สำหรับแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นที่ กม.10+700 ถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรสร้างซ้อนทับบนทางด่วนขั้นที่ 1 จนถึงถนนพระราม 3 ใกล้แยกต่างระดับบางโคล่และบรรจบกับทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะสร้างสะพานใหม่ขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร วางแผนเริ่มก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2560-กรกฎาคม 2563

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559