5.8 พันกองทุนหมู่บ้าน'โคม่า' เป้าผ่าตัด 3 แนวทางเข้ม เปลี่ยนทีมบริหาร-ควบรวม-ยุบทิ้ง

25 ต.ค. 2559 | 10:00 น.
สทบ.สังคายนาใหญ่กองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศ เล็งใช้ยาแรงสะสาง5.8 พันกองทุนกลุ่มโคม่า ขีดเส้นส่งแผนฟื้นฟูภายในต.ค.นี้ ขู่ถ้ายังไม่ผ่านเจอทั้งเด้งทีมบริหารเก่าตั้งชุดใหม่ ให้ควบรวมกองทุน จนถึงยุบทิ้งพร้อมเตรียมไล่เบี้ยหาคนรับผิดชอบความเสียหาย “นที” ยํ้าส่วนใหญ่กว่า90% แข็งแกร่ง พร้อมเป็นกลไกพัฒนาในพื้นที่ให้โครงการรัฐ

[caption id="attachment_107728" align="aligncenter" width="335"] รศ.นที ขลิบทอง  ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) รศ.นที ขลิบทอง
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.)[/caption]

รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตามที่กองทุนหมู่บ้านได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อนทุกหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินของชุมชน เพื่อให้บริการแก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยรัฐบาลใส่ทุนประเดิมให้กองทุนละ 1 ล้านบาทและรัฐบาลต่อ ๆ มาได้พิจารณาเพิ่มทุนให้เป็นระยะตามผลดำเนินการ และแบ่งตามขนาดกองทุน โดยมีการเพิ่มทุนเป็นการทั่วไปอีกครั้งในปี 2554-2555 ยุครัฐบาลเพื่อไทย อีกกองทุนละ 1 ล้านบาทเรียกว่าเป็นการเพิ่มทุนระยะที่ 3 ซึ่งดำเนินการไปได้ 53,590 กองทุน
ผอ.สทบ.กล่าวต่อว่า เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้นโยบายเมื่อปลายปี 2557 ให้เดินส่วนที่ยังค้างอยู่อีก 25,665 กองทุนต่อ แต่ให้ปรับวิธีการจากเดิมที่เพิ่มทุนให้ไปเลย แต่ให้ใช้ลักษณะฟื้นฟูและพัฒนาด้วย เนื่องจากกองทุนที่ได้รับการเพิ่มทุนส่วนแรกไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดี มีความพร้อมที่จะรับการเพิ่มทุนได้ทันที ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มที่ต้องมีแผนฟื้นฟูและพัฒนาก่อน ซึงในจำนวนนี้ถึงปัจจุบันดำเนินการเพิ่มทุนให้อีกกองทุนละ 1 ล้านบาทไปแล้วอีก 13,166 กองทุนเหลือที่อยู่ในกระบวนการพื้นฟูและพัฒนา12,499 กองทุน ซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 กลุ่ม คือ

[caption id="attachment_107727" align="aligncenter" width="700"] 4 แนวทางบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านฯกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการการฟื้นฟู-พัฒนา 4 แนวทางบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านฯกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการการฟื้นฟู-พัฒนา[/caption]

“กลุ่มที่ 1 ผ่านการประเมินการเตรียมความพร้อมแล้ว รอรับการโอนเงินได้ 1,562 กองทุน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมจะรับการเพิ่มทุนได้เช่นกัน แต่แจ้งว่าไม่ประสงค์จะรับ จำนวน493 กองทุน ซึ่งในกลุ่มนี้เราเห็นว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อไปสำรวจสมาชิกยังมีความต้องการบริการสินเชื่อเพิ่ม แต่ตัวกองทุนไม่เอา ต้องไปหาสาเหตุก่อนว่าไม่อยากเพิ่มภาระ ไม่อยากรับผิดชอบหรือมีปัญหาอะไร ส่วนนี้ขอแขวนไว้ กลุ่มที่ 3 อยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟูพัฒนา จำนวน4,617 กองทุน ซึ่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดวิทยากรมาอบรมให้ความรู้จากสำนักงานอัยการสูงสุด ในด้านกฎหมายจากกรมบัญชีกลางในเรื่องการทำบัญชีและความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินเป็นต้น”

รศ.นทีกล่าวด้วยว่า กองทุนในกลุ่มที่ 2 และ 3 รวมเป็น 5,110 กองทุนที่อยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูและพัฒนานี้ หากผ่านการประเมินและมีความพร้อมก็จะโอนเงินเพิ่มทุนให้ได้ทันที ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการประเมินในท้ายสุด ว่าจะผ่านขั้นตอนไปได้กี่กองทุน และทำแล้วยังไงก็ไม่ผ่านก็จะต้องตกไปรวมกับกลุ่มที่ 4ที่จะมีการบริหารจัดการที่เข้มข้นต่อไป

โดยในบรรดากองทุนหมู่บ้านฯเกือบ 8 หมื่นกองทุนทั่วประเทศนั้นการดำเนินงานในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีประมาณ 10% ที่มีปัญหาการบริหารจัดการ ซึ่งในแผนการแก้ปัญหาได้จัดไว้เป็นกลุ่มที่ 4 มีจำนวนอีก 5,827 กองทุนเราเรียกว่ากลุ่มไอซียู เพราะติดต่อก็ไม่มา ข้อมูลก็ไม่ครบ กรรมการไม่รับผิดชอบหรือมีปัญหาร้องเรียนกัน และถึงเวลาที่จะต้องใช้ยาแรงในการแก้ไข

“กลุ่มนี้จะต้องทำแผนฟื้นฟู และบอกมาเลยว่าจะดำเนินการข้างหน้าต่อไปอย่างไร ถ้าไม่มีคำตอบภายในเดือนตุลาคมนี้ เราอาจจำเป็นต้องทบทวนเปลี่ยนแปลงกรรมการ เราอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนให้มีกรรมการชุดใหม่ให้สมาชิกเลือกกรรมการชุดใหม่ โดยชุดเก่าพ้นหน้าที่ไปแต่ต้องรับผิดชอบหนี้สินเก่าความเสียหายเก่า ๆ คือให้พ้นจากตำแหน่งแต่ต้องเคลียร์ปัญหาความเสียหายเก่า ๆ”ทั้งนี้ สทบ.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อจะเข้าไปแก้ปัญหาเป็นรายกองทุน โดยต้องมีคำตอบชัดเจนภายในปลายปีนี้ ว่าตกลงจะอยู่หรือไม่ อยู่แล้วจะให้รอดอย่างไร จะฟื้นฟูพัฒนาอย่างไร จำเป็นต้องใช้ยาแรงต้องผ่าตัดในห้องไอซียู ต้องใช้มาตรการเข้มข้นกับคนกลุ่มนี้ โดยคณะทำงานอยู่ระหว่างทำทางเลือกการดำเนินการ หากรายที่เสนอแผนฟื้นฟูและผ่านการพิจารณาว่าน่าจะยังมีโอกาส ก็จะให้เวลา 3-6 เดือนไปดำเนินการ หรือหนักหนาจริงๆ ต้องเปลี่ยนกรรมการเก่าตั้งชุดใหม่ไปดูแลโดยจะขีดเส้นความเสียหายเดิมต้องหาผู้ชดใช้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาผูกพันทีมใหม่หรืออาจต้องควบรวมกองทุนที่มีปัญหาเข้ากับกองทุนที่เข้มแข็ง หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ทั้งกรรมการและสมาชิกไม่เอาแลว้ก็ต้องตัดสินใจยุบ

“ผมมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นหนึ่ง ชุดเดิมนี้แหละที่หมักหมมกันมา แล้วกลัวคนอื่นจะมารู้ก็เลยพยายามนั่งทับกองขยะเอาไว้ ไม่ยอมให้ใครทำอะไร นั่งทับไว้กลุ่มนี้มีปัญหาเพราะว่าเกิดหมักหมมไว้อีกลักษณะปัญหาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงชุดเก่ากับใหม่ไม่ถูกกัน ชุดเก่าไม่ให้อะไรเลย ชุดใหม่ขึ้นมามะงุมมะงาหรา งานชะงักการทำงานขาดตอน อีกประเภทหนึ่งชุดเก่าทำไว้ดี ชุดใหม่เข้ามาแล้วสร้างปัญหาเอง เป็นต้น เรามองว่าส่วนใหญ่ปัญหาเกิดจากตัวกรรมการ เพราะว่าสมาชิกไม่ได้มีส่วนมาบริหาร ต้องแก้ที่ตัวกรรมการก่อน”

รศ.นทีกล่าวอีกว่าการดำเนินการจะใช้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว โดยแต่ละกองทุนจะมีประธานกองทุน ถ้าตำบลหนึ่งมี 10 หมู่บ้าน ก็จะมีประธานกองทุนหมู่บ้านฯ 10 คน เรียกว่าเป็นกรรมการเครือข่ายตำบล ในอำเภอหนึ่งมี 10 ตำบล ก็จะมีกรรมการเครือข่ายอำเภอจากตัวแทนทุกตำบล เวลานี้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ มี 4 คน 4ภาค มี 77 คนจาก 77 จังหวัด มี 928คนจาก 928 อำเภอ มี 7,410 คน จาก7,410 ตำบล

“เพราะฉะนั้นงานที่ผมจะทำกับ 5,827 กองทุนนี้ คือส่ง 7,410 ตำบล ไปเจาะเป็นรายกองทุนตามหมู่บ้านของเขาให้เขารับรู้การบ้านว่าการบ้านของเขาคือใคร ไปคุยมา โดยใช้เจ้าหน้าที่ของเราลงเสริมไปเติม แต่เราบอกว่าเวลารัฐกับชาวบ้านคุยกันอาจจะคนละมุม พี่น้องคุยกันเองเถอะ ถ้าแต่ละหมู่บ้านคุยกันไม่รู้เรื่องก็เอาตำบลคุย ถ้าตำบลแก้ไม่ได้เอาอำเภอลงไปคุย ถ้ายังไม่ได้ให้ไปจบที่จังหวัด เราเชื่อว่าถ้าทำอย่างนี้น่าจะแก้เป็นรายกองทุนได้ และที่ผ่านมาเครือข่ายบอกเองว่าให้รีบแก้ปัญหานี้”

อีกทั้งการดำเนินการครั้งนี้ จะทำควบคู่กับการประเมินผลกองทุนหมู่บ้านใหม่ทั่วประเทศ ที่จะดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ โดยคาดหวังว่าระดับเอ และบี ที่มีรวม 5.9 หมื่นกองทุนน่าจะยังคงอยู่ เพราะจากกระบวนการต่างๆ ที่ทำ ก็มีประมาณ 6 หมื่นกองทุนที่ตอบสนองอยู่ สามารถรับแผนงานของภาครัฐได้ทันที ขณะเดียวกันเชื่อว่าระดับซี ที่เคยมี 1.2 หมื่นกองทุน น่าจะเพิ่มขึ้นจากดี ที่มีอยู่ประมาณ 7,000 โดยในจำนวนนี้ที่มีปัญหาหนักคือกลุ่ม 5,800กองทุนกลุ่มไอซียูดังกล่าว ที่เหลือน่าจะปรับปรุงฟื้นฟูขึ้นไปเป็นกลุ่มซีได้ โดยจะจัดกลุ่มให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อจะได้เริ่มต้นรอบใหม่ในปี 2560 ต่อไป

อย่างไรก็ตามในภาพรวมของกองทุนหมู่บ้านนั้น รศ.นที ยํ้าว่า 15 ปีของการดำเนินการส่วนใหญ่กว่า 90 % มีความเขม้ แข็ง สามารถบริหารจัดการตนเองได้โดยช่วยรักษาเงินทุนที่รัฐใส่เข้ามาให้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน ให้ยังคงทำหน้าที่สถาบันการเงินในชุมชน ให้บริการสมาชิกกว่า13 ล้านคน หรือคิดเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากบริการมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งประเทศ รวมทั้งมีความพร้อมเป็นหน่วยงานในพื้นที่เพื่อรับแผนงานพัฒนาของรัฐไปดำเนินการสู่ชุมชน

โดยล่าสุดรัฐอนุมัติงบประมาณ3.5 หมื่นล้านบาท ในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยให้กองทุนหมู่บ้านนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจฐานราก เฉลี่ยกองทุนละ 5 แสนบาท ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการเดือนกุมภาพันธ์กรมบัญชีกลางโอนเงินได้เมื่อเดือนเมษายน สทบ.ทยอยโอนให้กองทุนไปดำเนินการตามโครงการที่เสนอและผ่านการพิจารณาตั้งแต่นั้น เมื่อถึงสิ้นเดือนกันยายนสามารถเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 3.2หมื่นล้านบาท จากกว่า 6 หมื่นกองทุนและครม.มีมติให้ขยายโครงการนี้ไปถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถเบิกจ่ายดำเนินการได้ตามวงเงินงบประมาณทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด

“แสดงว่ากองทุนกว่า 6 หมื่นกองทุนนั้น มีตัวตนมีความเคลื่อนไหวในการบริหารจัดการ จึงสามารถรองรับโครงการพัฒนาของรัฐที่มุ่งลงสู่พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการลงทุนดังกล่าวเป็นโครงการที่ตรงจุด ตรงความต้องการของคนในพื้นที่ มีประสิทธิภาพไม่รั่วไหล และช่วยยกระดับเศรษฐกิจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559