‘ภาณุ’แจงภารกิจ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนุนงานศก. 80 % คาด 2 เดือนเห็นผล

30 ต.ค. 2559 | 11:30 น.
ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้นั้น รัฐบาลได้ให้ความสนใจเป็นกรณีพิเศษ จึงมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล “หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายภาณุ อุทัยรัตน์” เลขาธิการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) เกี่ยวกับการทำงานและบทบาทครั้งใหม่ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ภายใต้การนำของ บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

เลขาธิการ คปต. เริ่มต้นทำความเข้าใจว่า ส่วนตัวไม่อยากให้เรียก คณะทำงานชุดนี้ว่า “ครม.ส่วนหน้า” เพราะดูใหญ่โตเกินไป และในองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้มีรัฐมนตรีอยู่เพียง 2 คนเท่านั้นคือ พล.อ.อุดมเดชสีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงาน และพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองหัวหน้าคณะทำงาน

“งานของเราเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคราชการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะงานด้านเศรษฐกิจประมาณ 80 % เข้าไปเสริมของงาน คปต.ที่รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานอยู่ ดังนั้น จึงควรจะเรียกคณะทำงานชุดนี้ว่า “คปต.ส่วนหน้า” แทนที่จะเป็น “ครม.ส่วนหน้า”

ที่ผ่านมา พล.อ.อุดมเดช หัวหน้าคณะทำงานได้ประชุมเพื่อหารือ และซักซ้อมทำความเข้าใจกับทีมงานไปแล้ว 1 ครั้ง เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยบทบาทของ คปต.ส่วนหน้านั้น มี 3-4 ประการด้วยกัน

ประการแรก คือ เข้ามาเสริมสร้างกระบวนการทำงานให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น สามารถดำเนินการบางเรื่องที่ล่าช้าให้สามารถเดินหน้าไปได้รวดเร็วขึ้น อาทิ กรณีการสร้างด่านที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายตามโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของรัฐบาล ซึ่งยังมีปัญหาคาราคาซังเรื่องการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงการขอใช้ที่ดินที่เป็นที่ของกรมป่าไม้ ที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่าสงวน การขอใช้ที่ดินของการรถไฟที่อำเภอสุไหง-โกลก ซึ่งกำหนดเป้าหมายว่า จะเป็นคลังสินค้าข้ามแดน เป็นต้น

โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.ในพื้นที่ ได้มีข้อเสนอว่า เพื่อไม่ให้งานไปกองรวมกันที่ส่วนกลาง เป็นไปได้หรือไม่ที่คณะทำงานชุดนี้จะสามารถพิจารณาดำเนินการให้กระบวนการขั้นตอนต่างๆจบในพื้นที่ได้เลย อาทิ การขออนุญาตโรงงานไฟฟ้าชีวมวล การแก้ไขผังเมือง และการขออนุญาตตั้งโรงงาน เป็นต้น

ประการที่ 2 คือ ทำหน้าที่บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ งานของ ศอ.บต. งานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และงานระดับจังหวัดให้สามารถทำได้ทันที โดยนำมาศึกษาเพื่อให้เกิดการตกผลึกในระดับหนึ่งก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมชุดใหญ่ เป็นต้น

บางเรื่องอาจให้คณะกรรมการทำงานชุดนี้ นำไปศึกษาก่อนนำมาพูดคุยในที่ประชุมชุดใหญ่ และบางเรื่องหากได้ข้อสรุปแล้วอาจไม่จำเป็นต้องนำมาหารือกันในที่ประชุม คปต.ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการประชุมกัน 2 เดือน/ครั้ง โดยให้สามารถนำข้อสรุปเสนอต่อท่านประธาน คปต. (พล.อ.ประวิตร) เพื่อนำเสนอท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)ได้เลย รวมถึงการดำเนินการที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากคณะผู้แทนของรัฐบาลชุดนี้ มีผู้ที่รับผิดชอบอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงสามารถที่จะพูดคุยได้ทันที

“เป้าหมาย คือ ทำอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มองหาคนที่รับผิดชอบเรื่องเพื่อไปดำเนินการ ทำให้งานที่เป็นปัญหาทะลุทะลวงอุปสรรคต่างๆไปได้ รวมไปถึงการนำเอาข้อเสนอของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้ามากำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาร่วมกันก่อนนำไปสู่การขออนุมัติ หรือ ขอความเห็นจากท่านนายกฯโดยตรงได้เลย”

สำหรับกรณีที่มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า คณะทำงานไม่มีตัวแทนจาก ผู้นำศาสนา และนักวิชาการในพื้นที่นั้น เลขาธิการ คปต. ไขข้อข้องใจนี้โดยให้ความเห็นว่า เนื่องจากคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเป็นตัวเสริมการทำงานของภาครัฐดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยบูรณาการงานของ ศอ.บต. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และงานระดับจังหวัด ซึ่งทั้ง 3 หน่วยนี้ต่างก็มีที่ปรึกษาซึ่งมาจากภาคประชาชนอยู่แล้ว

ในส่วนของคณะทำงานจึงอยู่ในลักษณะของการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆให้เดินไปสู่เป้าหมาย ปัญหาความต้องการของพี่น้องประชาชนวันนี้อยู่ในรูปแบบของโครงการแผนงานแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบนี้

“เบื้องต้นคณะทำงานพุ่งเป้าเน้นไปที่ 3 เมืองหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายก่อน นั่นก็คือ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดปัตตานี ตั้งเป้าภายใน 2 เดือนนี้จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เห็นแผนงานโครงการต่างๆเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะแผนงานและโครงการต่างๆที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ผมมั่นใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในปี 2560”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559