รอคอยกันทุกสิ้นปีสำหรับมนุษย์เงินเดือน ว่าบริษัทจะปรับเงินเดือนขึ้นให้เท่าไร "พิชญ์พจี สายเชื้อ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์สวัทสัน ประเทศไทย ได้พูดถึงผลสำรวจความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน ประจำปี 2559 (2016 General Industry Total Compensation Survey) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ครอบคลุม 231 บริษัท ว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนของปี 2560 อยู่ในอัตราเท่ากับปีที่แล้ว คือ 5.5% โดยคนไทยจะมีเงินเหลือในกระเป๋าต่อเดือนอยู่ที่ 4.4% ซึ่งต่ำกว่าปี 2559 ที่มีเงินเหลือในกระเป๋าอยู่ที่ 5.3% (คิดงานอัตราเงินเดือนที่ปรับขึ้น ลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) เนื่องจากสินค้ามีราคาสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ที่ 1.1% เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8% ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการปรับขึ้นเงินเดือนของกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยถือว่าอยู่ในระดับกลาง เช่น สิงคโปร์เงินเข้ากระเป๋าอยู่ที่ 3.2% อินโดนีเซีย 3.6% ฟิลิปปินส์ 3.5%
การปรับอัตราเงินเดือนของไทย ไม่หวือหวา เพราะเศรษฐกิจของเราค่อนข้างคงที่ ด้วยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เติบโตเพียงแค่ 3.0-3.2% เพราะฉะนั้นองค์กรหรือบริษัทต่างๆ จึงต้องจัดสรรการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยจึงไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับปีที่จีดีพีอยู่ที่ 5% ขึ้นไป ตัวเลขการปรับอัตราเงินเดือนจะสูง โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีการขึ้นเงินเดือนต่ำสุด อยู่ที่ 5.3% ในปี 2559 แต่ในปี 2560 จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงขึ้น โดยอยู่ที่ 5.5% ในขณะที่อัตราการขึ้นเงินเดือนระหว่างปี 2559 - 2560 อยู่ในระดับใกล้เคียงกันในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
"พิชญ์พจี" บอกว่า การปรับอัตราเงินเดือนของบริษัทไทยยังมีปัญหา เนื่องจากหัวหน้างานคนไทย ยังไม่สามารถสร้างความต่างในการปรับเงินเดือนให้พนักงานได้ เนื่องจากไทยยังติดเกรงใจ กลัวลูกน้องเกลียด เพราะฉะนั้นการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน จึงยังไม่อยู่ที่ประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละบุคคลจริงๆ กราฟการปรับอัตราเงินเดือนเฉลี่ย จึงเอียงไปทางด้านอัตราที่สูง แทนที่กราฟที่ถูกต้อง จะต้องเป็นรูปโค้งป่องตรงกลาง
"บริษัทต่างๆ ต้องไปปรับนโยบาย และการขึ้นเงินเดือน เช่น บริษัทต้องไปสร้างความต่างในการจ่าย บริษัทมีเงินที่จะปรับเงินเดือนพนักงานอยู่จำนวนหนึ่ง ต้องจ่ายเพิ่มอย่างไรให้คุ้มค่ากับองค์กรมากที่สุด"
ส่วนอัตราการเข้าออกของพนักงาน ปี 2559 มีอัตราที่จะลดลง คือประมาณ 12% เมื่อเทียบกับปี 2558 อัตราการเข้าออกของพนักงานอยู่ที่ 14% และถ้าดูตามอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลงเกือบทั้งหมด เช่น ธนาคารและสถานบันการเงิน จาก 16% ลดเหลือ 14% ประกันวินาศภัยจาก 14% ลดเหลือ 10% ประกันชีวิตจาก 16% ลดเหลือ 10% ไฮเทคโนโลยีจาก 15% ลดเหลือ 10% มีอุตสาหกรรมเดียวที่ขึ้น คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จาก 12% ปรับขึ้นเป็น 16% เนื่องจาก เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะการทำงานที่สูง และอุตสาหกรรมนี้ยังมีโอกาสในการเติบโตสูงต่อเนื่อง
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ Talent Market ไม่ฮอตเท่ากับปีที่ผ่านๆ มา โอกาสของพนักงานที่เคลื่อนย้าย หรือลาออกเพื่อเปลี่ยนงานก็ลดลง และในปีที่ผ่านมาบางอุตสาหกรรมมีอัตราการเข้าออกของพนักงานที่สูง เช่น อุตสาหกรรมประชีวิต ประกันวินาศภัย บริษัทจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรักษาคนไว้ให้ได้ ผู้บริหารระดับสูงก็เข้ามาให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาบุคลากรมากขึ้น เพราะเริ่มตระหนักว่า บุคลากร คือต้นทุนที่สำคัญของบริษัท
ส่วนอัตราการจ่ายโบนัส กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการจ่ายโบนัสสูงสุด คือ ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่มีการจ่ายโบนัสสูง 3 เดือน รองลงมาคือกลุ่มประกันชีวิต 2.9 เดือน และที่ต่ำสุด คือ กลุ่มประกันวินาศภัย และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ อยู่ที่ 1.8 เดือน จากผลการสำรวจในกลุ่มธุรกิจงานธนาคารและการเงิน กลุ่มบริหารสินทรัพย์ กลุ่มประกันชีวิต/ประกันภัย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และไฮเทค กลุ่มเภสัชกรรม กลุ่มค้าปลีก กลุ่มขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์ และกลุ่มเคมีภัณฑ์
ในแง่ของสวัสดิการพนักงาน บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญและพร้อมจ่ายให้กับเรื่องของวันหยุดพนักงาน 100% รองลงมา คือ การดูแลสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สวัสดิการด้านอาหาร โดยแนวโน้มที่จะได้เห็นมากขึ้น คือ สวัสดิการแบบยืดหยุ่น หรือแบบเลือกได้ (Flexibility Benefits) โดยพนักงานมีสิทธิที่จะเลือกสวัสดิการที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งขณะนี้บริษัทที่ให้สวัสดิการเลือกได้ มีแค่บริษัทข้ามชาติเท่านั้น ทำให้สัดส่วนของสวัสดิการประเภทนี้มีเพียงแค่ 7% อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่จะได้เห็นมากขึ้น คือ การเพิ่มทางเลือกใหัพนักงาน ในการเลือกแพ็กเกจประกันที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งมีแนวโน้มของบริษัทที่จะให้สวัสดิการนี้ถึง 50%
ส่วนอัตราค่าจ้างเริ่มต้น สำหรับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา สูงสุดยังเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ที่ 20,583 บาท การเงินและบัญชี 2 หมื่นบาท และกฎหมาย 1.8 หมื่นบาท
"พิชญ์พจี" บอกอีกว่า ตอนนี้พนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรต่างๆ เป็นกลุ่ม Gen Y ประมาณ 46% ซึ่งถือเป็นกลุ่มพนักงานส่วนใหญ่ของแต่ละองค์กร ดังนั้น องค์กรจึงต้องมีการปรับตัว เพราะด้วยพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่ชอบทำงานเป็นโปรเจ็กต์ทำงานแล้วต้องเห็นผลเร็ว สนใจเรื่อง Work Life Balance หากการทำงานในองค์กรไม่ตอบสนองสิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็จะมีอัตราการลาออกสูง ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนงานใหม่ แต่เป็นการออกไปทำธุรกิจของตัวเอง หากองค์กรต้องการรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ ก็ต้องปรับตัว รองรับพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Y ให้ได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,214 วันที่ 1 - 3 ธันวาคม 2559