thansettakij
รถไฟเชื่อมทวาย-แหลมฉบัง ฮับด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน

รถไฟเชื่อมทวาย-แหลมฉบัง ฮับด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน

14 ธ.ค. 2559 | 06:00 น.
รถไฟเส้นทางนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ตัดสินใจนำเสนอบรรจุไว้ในแผนการลงทุนอีกหนึ่งโครงการที่จะไปเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกทวายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาที่อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายของเมียนมาและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย

แนวเส้นทางในประเทศไทยจะเริ่มจากสถานีชายแดนบ้านพุน้ำร้อน ไปยังสถานีชุมทางหนองปลาดุก สถานีพานทอง สิ้นสุดที่ท่าเรือแหลมฉบัง ผ่าน 8 จังหวัด ใน 15 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ไทรโยค อ.ท่าม่วง อ.บ้านโบ่ง จ.ราชบุรี อ.นครชัยศรี อ.สามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และอ.พานทอง จ.ชลบุรี รวมระยะทางประมาณ 322 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุน ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

รถไฟเส้นทางนี้ในด้านโลจิสติกส์ถือว่ามีความเหมาะสมสำหรับขนส่งสินค้าจากฝั่งภาคตะวันตกที่จะเชื่อมไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมากับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังในประเทศไทย โดยไม่ต้องผ่านใจกลางกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟสายใต้ตามแนวเส้นทางสถานีปากท่อ สถานีวงเวียนใหญ่ได้อีกด้วย

ส่วนผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจนั้นจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในการช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งยังมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการเวนคืนที่ดินของประชาชนน้อยมาก เนื่องจากแนวเส้นทางไม่ได้ผ่านในบริเวณย่านชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่น หากเปิดให้บริการจะช่วยลดระยะทาง ลดต้นทุนระยะเวลาในการขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรที่เดิมการขนส่งจะต้องอ้อมไปที่ช่องแคบมะละกา ประเทศมาเลเซีย

โดยจากการคาดการณ์ตามผลการศึกษาในปี 2594 คิดเป็นจำนวนสูงสุดประมาณ 5.08 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพการขนส่งของไทย และพัฒนาการเชื่อมต่อโครงข่ายโลจิสติกส์จากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือน้ำลึกทวาย นำไปสู่ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนเนื่องจากจะเชื่อมแหล่งการลงทุนอุตสาหกรรมและยังเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญแห่งใหม่ในระดับภูมิภาคอาเซียน ทำหน้าที่เป็นประตูสู่การค้าในเส้นทางทะเลแห่งใหม่ เนื่องจากจะเข้าถึงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย เป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าให้กับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปและแอฟริกาได้อย่างกว้างไกลมากขึ้น

ปัจจุบันร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบพร้อมแบ่งแนวเส้นทางออกเป็น 7 ช่วงตามสภาพภูมิประเทศ ข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ แนวเส้นทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงโครงการรถไฟที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งโครงการนี้ยังมีส่วนหนึ่งจัดเป็นแนวเส้นทางที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็กอีกด้วย

โดยช่วงที่ 1 เริ่มจากสถานีชายแดนบ้านพุน้ำร้อน-บริเวณสถานีท่ากิเลน 36 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 สถานีท่ากิเลน-สถานีวังเย็น 23 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 สถานีวังเย็น-สถานีท่าเรือน้อย 29 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 สถานีท่าเรือน้อย-สถานีชุมทางหนองปลาดุก 30 กิโลเมตร ช่วงที่ 5 สถานีชุมทางหนองปลาดุก-สถานีท่าแฉลบ 27 กิโลเมตร ช่วงที่ 6 สถานีท่าแฉลบ-บริเวณก่อนถึงสถานีพานทอง 118.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 7 สถานีพานทอง-ท่าเรือแหลมฉบัง 58.5 กิโลเมตร โดยร.ฟ.ท.ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา ท้ายที่สุดแล้วยังมีลุ้นว่าร.ฟ.ท.จะเร่งเสนอรัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการได้เมื่อใด..เท่านั้นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11 - 14 ธันวาคม 2559