จากวันแรกที่มียอดขาย 1 หมื่นบาท ใครจะเชื่อว่า 40 กว่าปีต่อมา ผู้ชายคนนี้ จะทำยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี แม้ในวัย 84 ปี แต่ "แฟรงค์ - สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล" ประธานบริหาร บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ก็ยังเดินหน้าลุยขยายสาขา ลงดูพื้นที่ ตรวจตราทุกซอก ทุกมุมในร้านเองแบบไม่รู้จักเหนื่อย ตรงข้ามเขาบอกว่า "สนุก" ทุกครั้งที่ได้ทำ
สตาร์ทด้วยยอดขายหมื่นบาทต่อวัน
"สมศักดิ์" ย้อนเรื่องราวในวันแรกที่เปิดร้านให้ฟัง เหมือนว่าเหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน
"เริ่มแรกเลยอยากจะลงทุนเอง แต่มีคนบอกว่า ถ้าจะทำซูเปอร์มาร์เก็ตต้องมีเครื่องเก็บเงิน สมัยนั้นถือเป็นเครื่องที่ไฮเทคโนโลยีสุดๆ แล้ว ก็ไปถามหาซื้อที่เคี่ยมหงวน เขาขายเครื่องละ 3.8 หมื่นบาท เมื่อ 40 ปีก่อนแพงมาก เทียบกับทองคำราคาบาทละพันกว่าบาท แต่บังเอิญมีคนแนะนำว่า ที่ซูเปอร์ฯ แห่งหนึ่งย่านเพลินจิตที่เขาปิดกิจการ เขาเลหลังขายก็ไปดู ขายเครื่องละ 1 หมื่นบาท ผมอยากได้แค่ 1 เครื่อง แต่เขามี 4 เครื่อง เอาไงดี คิดไปคิดมา ก็เลยซื้อมาทั้งเครื่อง ทั้งตึก ก็เลยได้ซูเปอร์มาร์เก็ตเลหลังย่านเพลินจิตขนาด 2 ห้อง 2 คูหา มา พร้อมกับเสียเงินไป 8.8 แสนบาท"
เปิดทำการวันแรก มียอดขาย 1 หมื่นบาท (หัวเราะ) พร้อมกระซิบว่า จริงๆ ขายได้ 9,800 บาท แต่ผมอยากได้หมื่นบาท จึงซื้อเองไป 200 กว่าบาท และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาก็ไม่เคยขายของได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทเลย
"สมัยนั้นติดแอร์ก็ไม่ดี ปิดประตูร้านก็ไม่ดี มีคนมาเคาะประตู ถามว่า ที่นี่กระทรวงอะไร? บางคนก็โผล่หน้าเข้ามาแล้วถามว่า ที่นี่ขายอะไร? "
วันนี้สู่เป้าหมื่นล้านต่อปี
แม้จะล้มลุกคลุกคลานในปีแรก แต่ "สมศักดิ์" ก็ภาคภูมิใจกับยอดขาย 3-4 ล้านบาทในปีแรกที่ได้มา และยังขาดทุนอยู่
ทุกวันนี้เขาก็ยังบอกว่า ทุกสาขาที่เปิดปีแรก จะยังขาดทุน ปีสองก็ยังขาดทุน จะเริ่มคุ้มทุนในปีที่ 3 บางแห่งปีที่ 4 แสดงว่ากำไรจะเกิดขึ้นก็ต้องปีถัดไป
วันนี้ชื่อของ "ฟู้ดแลนด์" เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะจุดขายสำคัญคือ "ซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชม."
"สมศักดิ์" บอกว่า ปีนี้เขาจะมียอดขายรวมกว่า 7,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ อีกไม่นานย่อมมียอดขายถึง 1 หมื่นล้านบาท จากการที่เขายังเดินหน้าลงทุนต่อไปเฉลี่ยปีละ 4-5 สาขา
วันนี้การเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย (เมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อน) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
เรื่องยากอยู่ที่ว่า จะยืนหยัดอยู่ในธุรกิจได้อย่างไร
"ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่หรือเล็ก เรื่องไซซ์ไม่สำคัญ จะพื้นที่ 2,000 – 3,000 ตรม. หรือ 1,200 ตรม. ลูกค้าจะชอบหรือไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับทำเล สินค้า และบริการมากกว่า หากเรารู้ว่าลูกค้าชอบอะไร ซื้ออะไรและมีให้เขา"
ลุยสร้างธุรกิจ ปั้มเงิน ปั้มกำไร
โมเดลหนึ่งที่ "สมศักดิ์" มักพูดถึงตลอดเวลาคือ ซูเปอร์มาร์เก็ตของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นต้นแบบที่ฟู้ดแลนด์ ยึดเป็นตัวอย่าง
"ที่อเมริกา ในซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นฟู้ด 75% แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่นิยมไฮเปอร์มาร์เก็ต มีพื้นที่ 5,000 – 10,000 ตรม. มีสินค้าหลากหลายตั้งแต่เสื้อผ้า ของใช้ ยันอาหาร แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทย ต้องเป็นฟู้ด 80% บางแห่งเช่น โคราช (สาขาใหม่ล่าสุดตั้งอยู่ในเทอร์มินอล 21 โคราช) เน้นฟู้ดมากถึง 85%"
คุณภาพของวัตถุดิบหลายชนิดที่ฟู้ดแลนด์ โดดเด่นมากๆเพราะมีกระบวนการผลิตและจัดเก็บด้วยโนฮาวจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ แม้แต่ตู้แช่ ตู้เก็บของ ตู้โชว์ ยังต้องนำเข้าจากอิตาลี และฝั่งยุโรป ทำให้วันนี้วัถตุดิบจากฟู้ดแลนด์หลายชนิด ถูกส่งออกไปยังอินเดีย ออสเตรเลียและอีกหลายประเทศ
"สมศักดิ์" บอกว่า แม้ซูเปอร์มาร์เก็ตจะแข่งขันกันรุนแรง โดยเฉพาะการขยายสาขา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมาก แต่เขาไม่คิดที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเหตุผลว่า จะเอาเงิน เอากำไรไปแบ่งกันทำไม ถ้าจะขยายธุรกิจ ต้องเอาเงินตัวเองไปลงทุน ไม่ใช่กู้เงินคนอื่นเขา
การจะทำธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตให้มีกำไร ต้องดูแลอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ให้รั่วไหล ไม่ให้เกิดของเสีย ซึ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากประสบการณ์ หากตรวจพบของเสีย ต้องยอมที่จะทิ้งไป ไม่ใช่เอาไปขายเพราะจะเกิดผลเสียตามมาอีกมาก
วันนี้ "สมศักดิ์" บอกว่ายังไม่คิดวางมือ เพราะยังสนุกอยู่กับการทำงาน แม้จะต้องตรวจร้านดึกดื่นถึงตี 2 ตี 3 และตื่น 7 โมงเช้าเพื่อลุยงานต่อ เขาก็ไม่เคยบ่นว่า "เหนื่อย"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,220 วันที่ 22-24 ธันวาคม 2559