คดีจำนำข้าว ‘ยิ่งลักษณ์’ โจทย์ใหญ่ท้าทายอำนาจรัฐ

01 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) วิเคราะห์ถึงปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเผชิญในปี 2560 ว่า ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาล มี 2 อย่าง ปัจจัยแรกคือเศรษฐกิจ เราต้องยอมรับอาจเป็นโชคไม่ดีของรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัญหาภายในประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมไม่ค่อยดี โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร เหล่านี้เป็นผลจากกลไกตลาดโลกด้วยไม่ใช่เพราะรัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไข อาทิ นโยบายพ็อคเก็ตมันนี่ ที่ช่วยคนจน 1,500 -3,000 บาท เป็นทฤษฎีที่ประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้คนจนมีการจับจ่าย
ปัจจัยเสี่ยงที่ 2 เป็นเรื่องการเมือง ต้องยอมรับว่าขั้วอำนาจเก่ามีความซับซ้อนสูง ทั้งอำนาจเงิน ทั้งเครือข่ายโซเซี่ยลเน็ตเวิร์คที่วางแผนไว้ยังเคลื่อนไหวอยู่ และจุดที่จะถูกกระตุ้นคือ คดีจำนำข้าว มองว่าเป็นเรื่องที่จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมันหมายถึงอนาคตทางการเมืองของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องติดตามการพิจารณาคดีว่าจะออกมาอย่างไร

ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2560 ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ตอนนี้มีความพยายามปกป้อง นางสาวยิ่งลักษณ์คนเดียว แล้วปล่อยคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถ้าเราติดตามคดีจำนำข้าวย่างละเอียดจะเห็นว่ามีมุมที่ไม่ใช่และยากอธิบาย เขาจึงพยายามปลุกกระแสช่วยเหลือชาวนา แต่ความเป็นจริงไม่มีใครห้ามช่วยชาวนาเลย
ขณะที่การเคลื่อนไหวของมวลชนพรรคเพื่อไทย เขายังพยายามปลุกกระแส เพราะพรรคเพื่อไทยเขาใช้ทฤษฎีแบ่งแยกประชาชน เมื่อแบ่งแยกจะรู้สึกถึงความเป็นพวก และลืมเหตุผล เขาจะพยายามทำทุกอย่าง แต่คิดว่าคนเบื่อแล้ว ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามอยู่ และทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะตอนนี้ทั้ง 2 ฝ่ายสู้กันด้วยข้อมูล ฝ่ายหนึ่งปลุกกระแส อีกฝ่ายพยายามชี้แจงคนไทยด้วยกันต้องรักกัน ทำให้เขาทำงานลำบากขึ้น

เรื่องอื่นๆ น.พ.วรงค์ มองว่า เป็นเรื่องปัจจัยเสริมความเสี่ยงที่ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาถ้ามีกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง และอื่นๆ คนร่างกฎหมายพยายามอุดจุดโหว่ของปัญหา บางฝ่ายก็หาว่าเข้มงวด ปฎิบัติไม่ได้ ตรงนี้มันเป็นอารมณ์เสริมของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่สำหรับผมรู้สึกเฉยๆ ผมอาจจะมองต่างมุมกับคนอื่นว่า ถ้าเราเป็นคนทำงานไม่คิดทำให้ประเทศชาติเสียหาย เข้ามาดูแลประโยชน์ของประชาชน แล้วจะไปกลัวทำไม เพียงแต่ขอให้เป็นกติกาที่มนุษย์ปฏิบัติได้

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ร่างขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องปรับตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่างกรณีให้คนที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคต้องเสียค่าใช้จ่าย ยอมรับว่ายาก ที่ผ่านมาประชาชนเคยได้ฟรีทางการเมืองมาตลอด อยู่ๆจะให้จ่ายปีละ 100 บาท ในระยะเปลี่ยนผ่านอาจจะยาก แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง สุดยอด เพราะเขาจะรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค จะทวงสิทธิติดตามดูเคลื่อนไหวของพรรคตลอด

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ปรับตัวง่ายกับกฎหมายใหม่ที่มากับรัฐธรรมนูญ เพราะ ปชป.มีโครงสร้างของการเป็นสมาชิกพรรคจริงๆ มีโครงสร้างการทำงานของสาขาพรรค และให้มีการคัดเลือก มีพื้นฐานตรงนี้อยู่ อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ 100% แต่ถ้าสมาชิกมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น เรามีฐานของทิศทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว และเราไม่ยึดติดที่ตัวบุคคล การเป็นพรรคการเมืองมันทรงอิทธิพลสูง จึงต้องมีกฎระเบียบที่เข้มข้น แต่บางพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเจ้าของพรรค มีลักษณะเหมือนบริษัทต้องปรับตัวเยอะ และเหนื่อยมากขึ้น

ลูกพระแม่ธรณีบีบมวยผม มองอีกว่า หลังเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 โอกาสที่ทหารจะเข้ามีบทบาททางการเมืองสูง ถ้าเราดูจากรูปการณ์ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติก็ชัดเจนที่จะเข้ามามีบทบททางการเมือง อย่างน้อยไม่เกิน 8 ปี

“นายกรัฐมนตรีจะเป็นใครหลังเลือกตั้งนั้น คนในวงการพอคาดเดาได้บ้างแล้ว ยิ่งฟังจากกระแสโพลล์ต่างๆ ยิ่งเห็นได้ชัด ยกเว้นเกิดอะไรแปลกๆมา พรรคการเมืองมีใจจะทำเพื่อประเทศชาติจริงๆ ตัดขาดในสิ่งที่สร้างขึ้นมาเป็นก๊วนการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เพื่อสนองต่อคนบางกลุ่มบางคนเท่านั้น”

บทสนทนาส่งท้าย น.พ.วรงค์ กล่าวสั้นๆถึงภารกิจช่วงรอยต่อที่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งใน 1-2 ปีนี้ว่า

“วันนี้เราทำงานกันเยอะ แต่ไม่มานั่งแถลงข่าวว่าทำอะไรบ้าง มีการลงพื้นที่เงียบๆไม่มีผิดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ เราก็พยายามสร้างฐานเสียงมีทีมที่จะพบปะคน สนใจคนมาร่วมทีมงาน คอยติดตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ต่างๆ ทั้ง 10 ฉบับ ภารกิจในเชิงวิเคราะห์ที่จะผลักประเทศไปข้างหน้าเรามีทีมทำอยู่แล้ว แต่จะออกแนวใดนั้นคงต้องรอเวลาที่เหมาะสมก่อน ”

ทั้งยอมรับว่า ผลจาก พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งพ.ร.ป.เลือกตั้ง และพ.ร.ป.พรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองต้องปรับตัวรับกับช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองให้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560