สมคิดขอโอกาส "รัฐบาลปฏิรูป" เชื่อ "มินิคาบิเนท" ฟื้นเศรษฐกิจได้  

11 ม.ค. 2560 | 13:46 น.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หรือหลังปี 2549 หากมองย้อนกลับไป การเมืองที่ไม่เสถียรภาพ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ย่อมส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลแต่ละช่วงไม่ต้องไปโทษใครเลย โครงสร้างไม่ได้เอื้อให้ใครไปปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจัง และหากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2540 ปีที่เกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่เป็นต้นมา จุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยมีเพียงจุดเดียว คือระบบธนาคารของไทยได้ระมัดระวังตัวมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ เอกชนของเราได้รับผลกระทบน้อยมาก และหากต้องการให้ภาคเอกชนลงทุนเยอะๆ ยอมรับว่าน่าเห็นใจ เพราะประสบการณ์ที่หลายกิจการเคยเผชิญวิกฤตเมื่อปี 2540 ย่อมทำให้ภาคเอกชนระมัดระวัง

“การเมืองไม่มีเสถียรภาพทุกปี นโยบายที่ออกมาเป็นรูปแบบเดิม ตอบสนองต่อการเลือกตั้ง เห็นผลในระยะสั้น มากกว่าจะเป็นนโยบายเห็นผลระยะยาว ซึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้าใจยาก จึงยากจะเกิดขึ้น ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย อุตสาหกรรมรถยนต์ สินค้าเกษตรยาง ข้าว ยังเหมือนเดิม แต่ประเทศเล็กๆ ในอาเซียนเริ่มเติบโตขึ้นมา และทำให้ภาคอุตสาหกรรมเคลื่อนย้ายจากไทยสู่ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) เพราะมีค่าแรงที่ถูกกว่า ซึ่งเขาย้ายไปแล้ว และไม่ย้ายกลับมาแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้การลงทุนก็เกิดขึ้นยาก ดังนั้น จึงไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด แต่เป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรามันเป็นอย่างนั้น หากจากนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยน แล้วบอกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไม่ปรับสูงขึ้น หากเรามัวแต่พูด ต่อให้ภาคการส่งออกโต 15% แต่ผมเชื่อได้เลยจีดีพีโตอย่างมากสุดก็แค่ 10%” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นบุญหรือกรรม เรามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการปฏิวัติรัฐบาลทหารเข้ามา จึงเป็นทั้งที่กลุ่มประเทศตะวันตกไม่ชอบ แต่ก็ถือเป็นโอกาสน้อยนิด เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องของอนาคต ใช้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ทำอย่างไรให้อนาคตมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่านี้ เพราะนานๆ จะมีโอกาสลักษณะนี้ ซึ่งตอนตนเข้ามารับตำแหน่ง ขณะที่ชีพจรเศรษฐกิจยังเต้นแผ่วขนาดนี้ ประเทศจะเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้น ผมต้องดำเนินการ 2 อย่าง คือ 1.ไม่ทำให้เศรษฐกิจทรุดไปมากกว่าเดิม 2.ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนวงจรชีวิตเศรษฐกิจไทยใน 10-15 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าบอกวันนี้ พรุ่งนี้ได้

“ประเทศไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่พึ่งพามีแต่การส่งออก ขณะที่ภาคลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ประกอบกับมีปัญหาทางการเมืองทำให้การลงทุนหยุดชะงัก และเศรษฐกิจไม่ขยายตัวเต็มที่ ซึ่งในปี 2560 ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้จีดีพีเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปฏิรูปวงจรเศรษฐกิจไทย ซึ่งที่ผ่านมา 1 ปีที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินงานผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนของภาครัฐ เพื่อให้เอกชนมีความเชื่อมั่นและลงทุน ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.2%” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มดีขึ้น คือ 1.การลงทุนจากต่างประเทศ 2.การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัว 3.ราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา 4.ภาคการท่องเที่ยว และ 5.งบประมาณกลางปี 2560 วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด เพราะฉะนั้นขอให้มั่นใจและประคับประคอง สร้างความมั่นใจ เพื่อเดินไปข้างหน้า ขออย่างเดียวอย่าทำร้ายตัวเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ได้โอกาสเศรษฐกิจจะเติบโตถึง 4% คงไม่ยาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้สร้างฐานไว้แล้ว เพราะฉะนั้นในปี 2560 จะเป็นปีของการปฏิรูป เพื่อลงฐานให้ลึกซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจก้าวกระโดดไปข้างหน้า ทดแทนในสิ่งที่ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยหัวแรงสำคัญคือรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องออกแรงผลักดันให้เกิดขึ้น

นายสมคิดกล่าวว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยจะทำให้เกิดความสมดุลในระบบเศรษฐกิจทั้งการส่งออก นำเข้า กำลังซื้อในประเทศ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ที่จะต้องมีความเข้มแข็งไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมีการลงทุน พัฒนาระบบบรอดแบรนด์ในอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน และเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศรวม 1.5 หมื่นล้านบาทต้องเกิดภายในปีนี้ ตลอดจนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งกฎหมายจะออกมาได้ภายในไตรมาสแรกนี้ เหล่านี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากทำได้ตามแผนปฏิรูปที่วางไว้ได้ทั้งหมด ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เกิน 4% อย่างแน่นอน ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มองว่าน่าจะชะลอตัวไปอีกนาน จากปัญหาต่างๆ คงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก

“การพัฒนาภาคเกษตรให้เข้าใจถึงระบบสมาร์ทเอสเอ็มอี ผ่านผู้นำในชุมชนที่ในท้องถิ่น ก่อนเผยแพร่ไปยังสมาชิกชุมชนมีความสามารถดีขึ้น เพื่อการค้ากับตลาดโลกได้โดยตรง ถือเป็นสิ่งที่คาดหวังไว้ ตลอดจนการปรับการใช้งบประมาณที่จะไปสู่กลุ่มจังหวัดมากขึ้น ซึ่งสำหรับปี 2560 กระทรวงการคลังจะจัดงบประมาณลงทุนไปยังกลุ่มจังหวัด 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้อยู่ในงบกลางปีวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท หลังจากนั้นการจัดทำงบประมาณในปี 2561 จะมีการจัดทำงบประมาณลงไปกลุ่มจังหวัดเพื่อมารับไม้ต่อไป ก็จะเป็นอีกช่องทางช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองที่มีการขับเคลื่อน 4 ชุดย่อย หรือมินิคาบิเนท ขึ้นมา 1 คณะ เพื่อผลักดันเรื่องที่สำคัญ เรื่องยากๆ ให้สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคมนี้ จะเป็นการประชุมครั้งแรก มีวาระการพิจารณาเรื่องโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2560 สำหรับ 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 1 แสนล้านบาท” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ตนได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยเพิ่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบมาตรการที่เหมาะสมและตรงจุดเบื้องต้น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วน ทั้งพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบมาตรการภาษี โดยบุคคลและนิติบุคคลสามารถนำมูลค่าเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคช่วยประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคมนี้ สามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ 1.5 เท่า หรือแบ่งเป็นบุคคลธรรมดา ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิ และนิติบุคคล ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

“แม้สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้จะรุนแรง แต่เชื่อว่าไม่กระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 3-4% หลัง ครม.เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการมินิคาบิเนท ประชุมเร่งรัดและสะสางอุปสรรควาระเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการประเมินความเสียหายยังไม่อยากให้พูดถึงในตอนนี้ อยากให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนมากกว่า และเชื่อว่าน้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้นยาวมากนัก จนกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว” นายสมคิดกล่าว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สคร. เปิดเผยหลัง ประชุมมอบนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ในปี 2560 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2560 จำนวน 371,910 ล้านบาท ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนประจำปี โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2560 เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้รัฐวิสากิจ จัดทำแผนเร่งรัดการลงทุนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2560 และกำหนดให้ทุกวันที่ 5ของเดือนรัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องส่งรายงานความคืบหน้าการลงทุน ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 จะมีโครงการจัดงาน SOE CEO Forum เพื่อให้ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจได้แลกเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กรแบ่งปันเทคนิคในการบริหารจัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมินการทำหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรด้วย โดยให้คณะกรรมการแต่ละหน่วยงานเป็นผู้ประเมินผล

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2559 มีจำนวน 235,043 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.0 ของแผนการเบิกจ่าย

นายเอกนิติ กล่าวว่า มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะเพิ่มงบการลงทุนในปีนี้ เช่น บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)ได้แจ้งว่าจะเพิ่มงบลงทุนเป็น 6 หมื่นล้านบาท จากเดิมตั้งงบลงทุนไว้ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เพิ่งอนุมัติโครงการลงทุนทางด่วนเส้นทางพระราม 3-ดาวคะนองของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) วงเงินลงทุนรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะทำให้งบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปีนี้เพิ่มเป็นกว่า 4 แสนล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท หากรัฐวิสาหกิจสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐ 3 เดือนแรกปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) จัดเก็บได้ 5.5 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.2% รายได้ที่จัดเก็บเกินกว่าเป้าหมายมาจากรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้มากกว่าเป้าหมายถึง 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำส่งรายได้มาถึง 1.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษี กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 3.66 แสนล้านบาท เกินกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท กรมสรรพสามิตจัดเก็บ 1.32 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท กรมศุลกากรจัดเก็บ 2.5 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 5 พันล้านบาท

ช่วง 2 เดือนแรกกรมจัดเก็บภาษีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภค เหล้า บุหรี่ น้อยลง แต่ในเดือนธันวาคม การจัดเก็บรายได้ 3 กรมเริ่มกลับมาดีขึ้น คาดว่าทั้งปีการจัดเก็บรายได้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะนี้ยังเหลือเวลาจัดเก็บอีก 8-9 เดือน