เร่งปฏิรูป-ปรองดอง ‘ประยุทธ์’ ขีดเส้นปีเดียวจบ

16 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดอง ของรัฐบาล “บิ๊กตู่”ที่ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการปฏิรูปและสมานฉันท์ ออกตัวเร็วกว่าที่คาด

เพราะหลังนายสุวิทย์ เมฆินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปปรองดองและยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง ขึ้นมา 4 คณะ และมอบหมายให้นายสุวิทย์ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

งานใหญ่และเร่งด่วนระดับชาตินี้ แน่นอนว่า “บิ๊กตู่”ต้องนั่งเป็นประธานชุดใหญ่ด้วยตัวเอง ขณะที่เรื่องปรองดองสมานฉันท์ มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ผ่านพ้นเพียง 4 วัน (12 มกราคม 2560 ) พล.อ.ประยุทธ์ ฟิตจัด นั่งหัวโต๊ะคณะทำงาน ภายใต้ชื่อเป็นทางการว่า “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือเรียกสั้นๆจำกันง่ายๆว่า “ป.ย.ป”

คณะกรรมการ“ป.ย.ป.”แบ่งการทำงานเป็น 4 กรรมการย่อย ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ4.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์

ทั้ง 4 กรรมการ จะมีนายกรัฐมนตรีดูแลทุกชุด ขณะที่กรรมการ 3 ชุดแรก จะมีรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) รองประธาน สนช.1 คน และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ รองประธาน สปท. อีก 1 คน ร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินนโยบาย เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ และเป้าหมายแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและคาดหวังกับการทำงานของคณะกรรมการระดับชาตินี้มากเป็นพิเศษ โดยเปรียบเทียบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ว่าเสมือนกล่องควบคุมทำงานของเครื่องยนต์ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ประเทศในทุกด้าน เพราะผู้ร่วมประชุมมีตั้งแต่ระดับรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมฆินทรีย์ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ผอ.สำนักงบประมาณ หัวหน้าส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ

หลังการประชุม พล.อ.ประวิตร ซึ่งรับผิดชอบด้านการปรองดอง ก็แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถทำให้เกิดความปรองดองขึ้นได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจะใช้มาตรา 44 หรือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี

“ผมทำยุทธศาสตร์ด้านการปรองดองอยู่แล้ว และได้หารือกับนายกรัฐมนตรีไปแล้ว จึงไม่ได้เสนออะไรเพิ่มเติม หลังจากนี้จะทำโครงสร้างเกี่ยวกับความปรองดองให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขั้นตอนดำเนินการจะทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความปรองดองและอยู่ร่วมกันได้”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า คณะทำงานจะมีทั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ สำหรับผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในคณะกรรมการ เป็นผู้ใหญ่ที่เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ มีทั้งที่เป็นอดีตผู้นำกองทัพและพลเรือน ขณะนี้กำลังทำโครงสร้างและขั้นตอนของการสร้างความปรองดองและอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งคาดว่าจะลงนามอนุมัติในวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า จะต้องเชิญผู้แทนหรือหัวหน้าพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุย คงจะเชิญมาทีละพรรค สองพรรค และจะทำให้ได้ข้อยุติให้มากที่สุดว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติต้องทำอย่างไร เรื่องราวในอดีตต้องว่าอย่างไร ส่วนเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ว่าไปตามกฎหมาย ซึ่งจะเชิญทั้งกลุ่มการเมืองคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาหารือ ซึ่งเรื่องปรองดองต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง

ทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังขับเคลื่อนเต็มสูบ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ที่ขึ้นมาผงาดในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ยืนยันอย่างหนักแน่นตามความประสงค์ของทางการเมือง และภาคสังคม ที่เฝ้าติดตามอย่างมีความหวังว่า
“ผมอยากให้อยู่ด้วยกันให้ได้ทุกฝ่ายเพื่อที่จะปรองดองกัน การจะปรองดองต้องมีกติการ่วมกัน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่ 15 - 18 มกราคม 2560