ตั้งงบบูรณะใต้2.2หมื่นล้าน

17 ม.ค. 2560 | 07:00 น.
สำนักงบประมาณเพิ่มงบกลาง 2.2 หมื่นล้านบาท ซ่อมแซมสาธารณูปโภค ถนน โรงพยาบาล 12 จังหวัดใต้ ขณะที่แบงก์ออกมาตรการดูแลลูกค้า แบงก์กรุงเทพให้วงเงินสินเชื่อฟื้นฟู 1 หมื่นล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลาง สำหรับช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมใน12 จังหวัดทางภาคใต้จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า งบกลางปี 2560ที่เพิ่มขึ้นอีก 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่รวมความเสียหายต่อเอกชน โดยการะบวนการเยียวยาจะเริ่มต้นทันทีที่สถานการณ์แต่ละพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายกลับเขาสู่สภาวะปกติ

เบื้องต้นหลังจากน้ำลดและกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ละหน่วยงานจะรวบรวมข้อมูล เช่น กรณีที่เกิดความเสียหายกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา หน่วยงานที่ต้องรายงานข้อมูลเพื่อขออนุมัติงบซ่อมแซม คือ กระทรวงศึกษาธิการ

กรณีเกิดความเสียหายกับถนน สะพาน หรือระบบคมนาคมขนส่ง จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่ต้องรายงานข้อมูลเพื่อขออนุมัติงบประมาณ เช่นเดียวกันหากโรงพยาบาลเสียหายก็จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรายงาน เป็นต้น

“วงเงินนี้กำหนดเป็นงบประมาณสำหรับซ่อมแซมความเสียหายเชิงพื้นที่ ส่วนวงเงินที่ใช้เยียวยากรณีที่มีผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินนั้นเป็นคนละส่วนกัน”

ส่วนเรื่องการแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการพร้อมมอบนโยบายให้แต่ละกระทรวงเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเสนอแผนซ่อมแซมเข้ามาโดยเร่งด่วนเพื่อให้การคมนาคม การสัญจร การรักษาพยาบาล รวมถึงการเรียนแต่ละพื้นกระทบให้น้อยที่สุด

ด้านความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนโดยเฉพาะธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน ก็ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ประสบภัยแล้ว เช่นธนาคารกรุงเทพ วาง 3 มาตรการช่วยเหลือ คือผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%ให้กับลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและให้ชำระเพียงเงินต้นล้านละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย พักชำระหนี้เป็นเวลา สูงสุด 3 เดือน ลดดอกเบี้ย 50-100% แล้วแต่ประเภทของสินเชื่อ และขยายระยะเวลาการผ่อนชำระตั้งแต่ 2 เดือน ถึงสูงสุดไม่เกิน 5 ปี แต่ต้องลงทะเบียนภายในเดือนมิถุนายน 2560 และยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะ

ด้านธนาคารกสิกรไทย ช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจโดยการลดยอดผ่อนชำระหรือพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 12 เดือน รวมถึงการขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินการค้าต่างประเทศ และหากสถานการณ์คลี่คลาย ลูกค้าที่ต้องการวงเงินเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ เครื่องจักร รวมถึงชดเชยสต็อกสินค้าที่เสียหายจากอุทกภัย จะให้วงเงินกู้โดยพักชำระเงินต้น 6 เดือน และไม่ต้องประเมินราคาหลักประกันใหม่

ธนาคารทหารไทย ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบด้วยการพักชำระเงินต้นสูงสุดนาน 6 เดือน หรือ การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย3 เดือน และดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับเงินทุนหมุนเวียน ส่วนลูกค้าบุคคลขอพักชำระหนี้ได้สูงสุด 3 เดือน ลูกค้าสินเชื่อบ้านสามารถขอสินเชื่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน สูงสุด 20% ของมูลค่าหลักประกัน

ส่วนธนาคารรัฐ ได้ช่วยเหลือในเบื้องต้น พักชำระหนี้ ยืดหนี้ เป็นต้น และอยู่ระหว่างการพิจารณาช่วยเหลือสินเชื่อผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ธุรกิจประกันภัย บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ได้ออกมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยของบริษัท 4 มาตรการ เช่น กรณีที่กรมธรรม์ ครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยจากเดิม 31 วัน ขยายออกไปให้อีก 60 วัน รวมเป็น 91 วัน

อ่าน...รัฐอ่วมจ่ายชดเชยน้ำท่วม...น.6

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่  15 - 18  มกราคม 2560