คมนาคมต่อยอดโครงการ “อีอีซี” เล็งเปิดระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือและอีสาน หวังเชื่อมโยงพื้นที่เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มประสิทธิภาพ 20 มีนาคมนี้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจับเข่าหารือพ่อเมืองเชียงใหม่และเชียงรายก่อนลุยต่อที่ขอนแก่น ศูนย์กลางรับเออีซี
แหล่งข่าวระดับสูงของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคตะวันออกซึ่งจัดอยู่ในแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของภาคตะวันออก(อีอีซี) นั้น เพื่อให้ภาคอื่นๆได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนและขยายพื้นที่เศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น กระทรวงคมนาคมโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจ2 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ มุ่งเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอนแก่น นครราชสีมา หนองคายและนครพนม เพื่อให้มีส่วนสนับสนุนแนวระเบียงเศรษฐกิจอีอีซีให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการใช้แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเข้าไปเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้ จังหวัดในหัวเมืองหลักจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชื่อมโยงทั้งทางถนน ทางอากาศ หรือทางราง ตามแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการผลักดันของกระทรวงคมนาคม อาทิ รถไฟภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาไทย-ญี่ปุ่นเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หรือ รถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทาง เชียงใหม่-เชียงราย รถไฟทางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่และเด่นชัย-เชียงราย- เชียงของเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นยังมีแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคหลายแห่
โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ที่บางช่วงอยู่ระหว่างการประมูล บางช่วงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้เชื่อมโยงกับเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยที่ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าอย่างมากพร้อมเปิดให้บริการในอีกไม่กี่ปีนี้ โดยมีเส้นทางรถไฟไทย-จีนเป็นแกนหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าควบคู่ไปกับรถไฟทางคู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ
"ในวันที่ 20 มีนาคมนี้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาซึ่งนำโดยบริษัทดาวฤกษ์คอมมูนิเคชั่น จะนำคณะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เนื่องจากจะเป็นศูนย์กลางเพื่อหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะที่ปรึกษาได้วางจุดศูนย์กลางไว้ที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากจัดอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก และยังเป็นเส้นทางผ่านของรถไฟไทย-จีน นอกจากนั้นมุ่งไปที่จังหวัดหนองคาย นครราชสีมาและนครพนมอีกด้วย"
เบื้องต้นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะใช้โมเดลของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ใช้พัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งให้เอกชนเป็นแกนนำหลัก ส่วนภาครัฐมีบทบาทให้การสนับสนุน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองและกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่ต้องการให้กลุ่มทุนเอกชนเข้าไปร่วมกับกลุ่มทุนท้องถิ่นเข้ามารับดำเนินการทั้งการก่อสร้าง การบริหารโครงการและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีไฮสปีดเทรน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560