ทางเลือกการลงทุนในภาวะดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ กับผลตอบแทนที่ซ่อนอยู่

28 มี.ค. 2560 | 01:00 น.
ในระยะนี้ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดยังค่อนข้างต่ำ และภาวะตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศมีความผันผวนสูง นักลงทุนหลายท่านจึงสนใจอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนคือ การลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ภาคเอกชน เพราะยังคงมีอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง สม่ำเสมอ และคงที่ แต่บางท่านก็ติที่ต้องถือหุ้นกู้ไปจนกว่าจะครบกำหนด และเท่าที่พบเห็นในตลาดไทยของเรา ก็มีอายุหุ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 3-10 ปี ซึ่งค่อนข้างยาว และทำให้บริหารสภาพคล่องไม่ยาก

ความเข้าใจที่ว่า เมื่อซื้อหุ้นกู้แล้วต้องถือจนครบอายุเป็นความเข้าใจผิด เพราะ ผู้ลงทุนหุ้นกู้สามารถนำหุ้นกู้ที่ซื้อมาขายต่อได้ในตลาดรอง และตลาดรองนี้ช่วยทำให้นักลงทุนสามารถทำได้ผลตอบแทนทั้งจากดอกเบี้ย กำไรจาก capital gain (หากมี ซึ่งจะเกิดในกรณีที่ ดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง ทำให้ราคาหุ้นกู้ที่ซื้อขายราคาสูงขึ้น) และที่สำคัญเพิ่มสภาพคล่อง ให้แก่นักลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นกู้จนครบกำหนดอายุ อย่างไรก็ตามทางเลือกที่ดีที่สุด ในช่วงภาวะดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้นคือ การถือจนครบอายุหุ้นกู้นะคะ

เนื่องจากการซื้อหุ้นกู้มีทั้งในตลาดแรก คือ เป็นการเสนอขายครั้งแรกต่อนักลงทุนจากบริษัทโดยตรง ปัจจุบันก็มี หุ้นกู้ตลาดแรกมาเสนออย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนจะเลือกช็อปตัวไหน เราต้องพิจารณาดูความเสี่ยงของหุ้นกู้นั้นๆ ผ่านอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ควบคู่ไปกับ แนวโน้ม (outlook) ด้วยเสมอ ซึ่งทั้งRating และ outlook นี้ จะจัดทำโดยมีที่มาจากบริษัทที่ผ่านมารับรองจากกลต.แล้ว

โดยอันดับความน่าเชื่อถือ มีตั้งแต่ AAA, AA, A, BBB, BB, B, CCC, CC, C ถึง D และมี ประจุ บวก(+) และ (-) โดยประจุบวก มี ความน่าเชื่อถือ ดีกว่าประจุลบ เช่น BBB+ มีความน่าเชื่อถือดีกว่า BBB และ BBB มีความน่าเชื่อถือดีกว่า BBB- เป็นต้นโดยหุ้นกู้ที่สามารถลงทุนได้(Investment Grade) คือ AAA ถึง BBB เท่านั้น

สำหรับ outlook ก็มี Positive (ความน่าเชื่อถือมีแนวโน้มปรับดีขึ้น), Stable (มีแนวโน้มคงที่), negative (มีแนวโน้มปรับตัวแย่ลง), Developing (กำลังพัฒนา เป็นได้ทั้ง ดีขึ้น คงที่หรือ แย่ลง)

ยิ่งอันดับความน่าเชื่อถือดีเท่าไหร่ ดอกเบี้ยยิ่งน้อยลงเท่านั้น หุ้นกู้บางบริษัทมีเรตติ้งดีมาก ระดับ AA ระดับ A ดอกเบี้ยก็จะต่างกับบริษัทที่มีเรตติ้ง BBB ค่อนข้างมาก ทั้งนี้นักลงทุนแต่ละท่านจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยต่างกัน จึงควรดูความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองร่วมด้วย อย่าดูแค่อัตราดอกเบี้ยที่สูงเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ในฐานะที่ผู้ถือหุ้นกู้เป็นเจ้าหนี้บริษัท และมีระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างนาน เราควรต้องศึกษาและติดตามข่าวคราวของบริษัทที่เราซื้อหุ้นกู้ด้วย เพราะ อันดับความน่าเชื่อถือ และแนวโน้มมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทางค่ะ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการจัดพอร์ทการลงทุนของเรา

สำหรับการซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรอง ทำอย่างไร และมีข้อควรระวังอย่างไร จะนำมาเล่าในฉบับต่อไปนะคะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560