คลังชงลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าอีวีเหลือ2%บอร์ดบีโอไอไฟเขียวสิทธิประโยชน์ส่งเสริม3 แบบ ทั้ง HEV, PHEV และรถ BEV ได้รับสิทธิประโยชน์ตามเทคโนโลยี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงไม่เกิน 10 ปี แข่งมาเลย์-อินโดฯ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 28 มีนาคมนี้จะมีการพิจารณามาตรการสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มาตร การด้านภาษีสรรพสามิต และมาตรการสร้างตลาด
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากสิทธิประโยชน์ของบีโอไอที่ได้รับแล้ว ยังมีมาตรการ อื่นๆ ที่จะจูงใจให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านการสร้างตลาดภายในประเทศ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคมนี้ จะมีการเสนอให้มีการแก้ไขกฎระเบียบในการจัดซื้อรถยนต์อีวีในหน่วยงานราชการ รวมถึงการกำหนดแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งให้มีการใช้รถยนต์อีวี หรือบางพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังจะเสนอให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตประมาณ 2 % เท่านั้น ซึ่งจะทำให้รถยนต์อีวีมีราคาตํ่า สามารถเข้าถึงผู้บริโภคระดับชั้นกลาง ตามที่นายกรัฐมนตรีอยากเห็นขณะที่กระทรวงพลังงานจะมีการเสนอแผนก่อสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่
คลังจ่อลดภาษีเหลือ2% สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ทางกรมสรรพสามิต เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนมีนาคมนี้เพื่อลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเพื่อตอบสนองแผนลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลที่ต้องเร่งทำเพื่อแข่งขันกับอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ที่ต่างก็ต้องการช่วงชิงฐานการผลิตรถยนต์แห่งภูมิภาคไปจากประเทศไทย
ทั้งนี้อัตราภาษีที่ปรับลดลงที่ได้เห็นชอบร่วมกับกรมสรรพสามิต ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำหนดอัตราภาษีนั้น ได้ข้อสรุปว่าจะลดภาษีใน 2 ส่วน คือ 1.รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันเสียภาษี 10% เหลือ 2% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราภาษีรถยนต์ที่ตํ่าสุดในระบบ 2.ลดอัตราภาษีรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าลงมาครึ่งหนึ่งของ
อัตราจัดเก็บในปัจจุบัน แบ่งเป็น 4 อัตรา คือ
1. ปล่อยไอเสียตํ่ากว่า 100 กรัม/กิโลเมตร อัตราลดลงจาก 10% เหลือ 5%
2.ปล่อยไอเสีย 100-150 กรัม/กิโลเมตร อัตราลดลงจาก 20% เหลือ 10%
3.ปล่อยไอเสีย 100-150 กรัม/กิโลเมตร อัตราลดลงจาก 25% เหลือ 12.5%
4.ปล่อยไอเสีย 200 กรัม/กิโลเมตร อัตราลดลงจาก 30% เหลือ 15%
“รถไฟฟ้าหรือรถไฮบริดที่จะได้ลดภาษีตามโครงการนี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เป็นรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น จะเป็นคนไทย หรือต่างชาติก็ได้ทั้งนั้น ขอให้ผลิตในประเทศไทย เพราะแบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจของรถไฟฟ้าและรถไฮบริด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเงินลงทุนสูงมากถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็มีนักลงทุนต่างชาติแสดงความพร้อมและสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว”
นางหิรัญญาสุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี 3 แบบ ได้แก่ 1.รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและ
พลังงานไฟฟ้า(Hybrid Electric Vehicle:HEV ) 2.รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก(Plug-In Hybrid Electric Vehicle:PHEV) 3.รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(Battery Electric Vehicle:BEV) โดยให้ส่งเสริมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะและรถโดยสาร ทุกแบบต้องเสนอเป็นแผนงานรวม(Package)ที่ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ
[caption id="attachment_137603" align="aligncenter" width="487"]
ทุบภาษี! รถอีวี 2% บีโอไอให้สิทธิ์ 10 ปี แข่งเพื่อนบ้าน[/caption]
ได้สิทธิภาษีตามเทคโนโลยี
ทั้งนี้ การส่งเสริมทั้ง 3 แบบดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามเทคโนโลยีการผลิต โดยกิจการผลิตรถยนต์HEV ผู้ที่สนใจจะต้องยื่นขอส่งเสริมลงทุนภายในวันที่31 ธันวาคม2560 ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ PHEV จะต้องยื่นคำขอส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี แต่หากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี
ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ BEV จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5 - 8 ปี แต่หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี
ส่วนกิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Bus) จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี โดยกิจการนี้ที่ประชุมเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพที่จะทำการผลิตได้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตร การส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่าเกณฑ์ปกติ 2 ปี
อีก13ชิ้นส่วนได้บีโอไอ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณากิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มชิ้นส่วนอีก 13 รายการที่จะให้การส่งเสริม และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้แก่ กิจการผลิตแบตเตอรี่, กิจการผลิต Traction Motor, กิจการผลิตระบบปรับอากาศด้วยไฟฟ้าหรือชิ้นส่วน, กิจการผลิตระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่, กิจการผลิตระบบควบคุมการขับขี่ ,กิจการผลิต On-Board Charger, กิจการผลิตสายชาร์จแบตเตอรี่พร้อมเต้ารับ-เต้าเสียบ, กิจการผลิตDC/DC Converter, กิจการผลิต Inverter, กิจการผลิต Portable Electric Vehicle Charger, กิจการผลิต Electrical Circuit Breaker,กิจการพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) และกิจการผลิตคานหน้า/คานหลังสำหรับรถโดยสารไฟฟ้า
โครงการเหล่านี้หากลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี
ส่วนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องเสนอแผนการจัดหาอุปกรณ์และชิ้นส่วน จะต้องเสนอแผนพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
ค่ายรถบอก2%ไม่พอ
นายสเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทคุยกับตัวแทนรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และต้องชื่นชมที่พยายามผลักดันให้มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเมืองไทย ส่วนการเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ 2% สำหรับรถยนต์ประเภทนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ถ้ามองในระยะยาวยังไม่น่าจะเพียงพอ
“เมื่อรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศแล้ว ควรสร้างความต้องการในตลาดให้เกิดขึ้นด้วย ขณะที่ค่ายรถยนต์ต้องใช้ระยะเวลาวางแผนผลิตภัณฑ์อีก 2-3 ปี และถ้าให้เกิดความนิยมและมีใช้อย่างแพร่หลายต้องใช้เวลาอีก 7-8 ปี”
ขณะที่ความเห็นของผู้บริหารค่ายรถยนต์รายหนึ่งกล่าวว่า แนวทางสนับสนุนของรัฐบาลนั้นเอื้อไปที่รถยนต์ไฮบริด(HEV)มากกว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าอีวี(BEV) ซึ่งภาษีสรรพสามิต 5%ของไฮบริดกับ 2% ของอีวี ยังไม่สมเหตุสมผล