‘อาลีบาบา’ ยึด! สุวรรณภูมิ
-29มีค.60--29มีค.60-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3248 ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.2560 สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า ยืนยันอาลีบาบาลงทุนสร้างอี-คอมเมิร์ซพาร์กในไทย ล็อกเป้าพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ 450 ไร่ ใน 2 เฟส สรุปสิทธิประโยชน์ภาษี-ขั้นตอนทางศุลกากรภายในสิ้นเดือนนี้
นโยบายสร้างไทยให้เป็นศูนย์กลางอี-คอมเมิร์ซ ในอาเซียนและซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)กำลังจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แม้ว่าทางอาลีบาบาจะจับมือกับรัฐบาลมาเลเซียสร้างศูนย์กระจายสินค้าที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ไปแล้วก็ตาม โดยจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในวันที่ 5 เมษายนนี้
นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ติดต่อเข้ามาดูพื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อลงทุนจัดตั้ง ศูนย์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค หรือ E-Commerce Park แล้ว 2-3 รอบ
ทอท.มีที่ดินแปลงที่ 37 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ บริเวณทางทิศตะวันออกของสนามบินว่างอยู่ 1 แปลง ทางกลุ่มอาลีบาบาให้ความสนใจที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่ในเบื้องต้นประมาณ 150 ไร่ เพื่อลงทุนในโครงการนี้ โดยจากการหารือกัน มีความเป็นไปได้ 80-90% ที่ทางอาลีบาบาจะเช่าพื้นที่จาก ทอท. ไปลงทุนศูนย์กลางการค้าอี-คอมเมิร์ซในไทย
เงื่อนไขปลีกย่อยในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ทางอาลีบาบาจะต้องเจรจากับทางรัฐบาลไทย เนื่องจากทางกลุ่มอาลีบาบาต้องการตั้งเป็นเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) และคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อบรรจุหีบห่อและขนส่งสินค้าออกไปผ่านทางบก ทางอากาศ และทางรถไฟ
แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กลุ่มอาลีบาบายังส่งผู้บริหารมาดูพื้นที่อื่นๆ อีก 3-4 แห่ง อาทิ พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง อ.ศรีราชา และพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ชลบุรี พื้นที่ทั้ง 3 แห่ง แม้จะอยู่ในพื้นที่อีอีซี แต่ถือว่าไกลจากสนามบินทำให้การขนส่งสินค้าอาจไม่สะดวกและใช้เวลาในการเดินทางขนส่ง ประกอบกับทางอาลีบาบาแจ้งว่า การส่งสินค้าส่วนใหญ่จะใช้รถขนส่งขนาดเล็กมากกว่า เพราะคล่องตัวและรวดเร็วกว่าในการ กระจายสินค้าออกไปยังกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม
การลงทุนครั้งนี้ ทางกลุ่มอาลีบาบาจะให้บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทยฯ ที่ทางกลุ่มอาลีบาบาได้เข้ามาซื้อกิจการไปก่อนหน้านี้เป็นผู้ลงทุน ซึ่งขณะนี้ทางลาซาด้าอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องให้บอร์ดอนุมัติแผนลงทุน โดยเฟสแรก ใช้พื้นที่ 150 ไร่ ส่วนเฟสที่ 2 จะใช้พื้นที่อีกประมาณ 300 ไร่ นางสมศรี ดวงประทีป กรรมการบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ยอมรับผู้บริหารอาลีบาบาเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ก่อนหน้านี้
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า ทางกลุ่มบริษัท อาลีบาบาฯ เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ
รายใหญ่ของจีน ที่มีบริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทลูกในไทย จะยังเข้ามาลงทุนโครงการอี-คอมเมิร์ซ พาร์ก ในไทยอย่างแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเกี่ยวกับขั้นตอนด้านศุลกากร เพื่อทำให้เป็นเขตปลอดภาษี โดยมีเป้าหมายขยายตลาดให้ครอบคลุมไปยังซีแอลเอ็มวี
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ บอร์ดอีอีซี กล่าวว่า ได้รับการยืนยันว่าคณะผู้บริหารจากอาลีบาบาและลาซาด้าจะมาพบ รมว.อุตสาหกรรมเพื่อยื่นข้อเสนอในการลงทุน อาทิ การอำนวยความสะดวกเรื่องขั้นตอนกฎหมายศุลกากรที่ช่วยส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยมีความชัดเจนว่าจะเข้าลงทุนพื้นที่ใดจะได้ข้อสรุปในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ก่อนเสนอให้บอร์ดอีอีซี และ ครม.เห็นชอบต่อไป
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ลาซาด้าฯ จดทะเบียนตั้งกิจการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 เพิ่มอีกครั้งเป็น 3,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท
ปี 2555 มีรายได้ 73 ล้านบาท รายจ่าย 328 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 254 ล้านบาท
ปี 2556 มีรายได้ 659 ล้านบาท รายจ่าย 1,176 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 518 ล้านบาท
ปี 2557 มีรายได้ 1,629 ล้านบาท มีรายจ่าย 2,488 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 863 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 3,197 ล้านบาท รายจ่าย 5,152 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,958 ล้านบาท
ปัจจุบันมีสินค้าที่วางจำหน่าย 4.8 ล้านชิ้น เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านชิ้น โดย 40% เป็นประเภทแฟชั่น ความงาม มีผู้ขายบนลาซาด้า 15,300 ราย ใน 5 ปีมียอดขายสมาร์ทโฟนถึง 1.4 ล้านเครื่อง