นโยบายการค้าของทรัมป์

02 เม.ย. 2560 | 03:00 น.
นโยบายการค้าของประธานาธิบดี Donald Trump ระบุเป้าหมายและลำดับความสำคัญที่ต้องดำเนินการในปี 2560 ว่าจะเน้นการเจรจาข้อตกลง 2 ฝ่ายหรือทวิภาคี(Bilateral)แทนข้อตกลงหลายฝ่ายหรือพหุภาคี (Multilateral) และจะเจรจาแก้ไขข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ ซึ่งจะเน้น 10 เรื่องซึ่งผมจะยกมานำเสนอเพียงบางเรื่อง เช่น จะให้ยกเลิกการใช้มาตรการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่กีดกันสินค้าส่งออกรวมถึงสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯโดยการเพิ่มทั้งอัตราภาษีศุลกากรซึ่งประเทศสมาชิกในองค์การการค้าโลกได้มีข้อผูกพันที่ลดลงมาเรื่อยๆแต่ขณะนี้หยุดอยู่เพราะการเจรจาข้อตกลงใหม่ล้มเหลวมาตั้งแต่ปี 2001

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ 1.มาตรการที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนทางการเงิน(Monetary) เช่นเรื่องการตอบโต้การทุ่มตลาดโดยการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มหากพิสูจน์ได้ว่าขายราคาถูกกว่าต้นทุนหรือถูกกว่าที่ขายในประเทศหรือขายไปยังประเทศอื่นและยังรวมไปถึงสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐบาล ในส่วนที่ 2 (Non-Monetary) เช่นมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การติดฉลากสินค้า เป็นต้น แต่มีข้อยกเว้นว่าประเทศสมาชิกมีสิทธิ์ที่จะปกป้องคน สัตว์ พืช ในประเทศได้หากสินค้าที่นำเข้าไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่ใช้อยู่เช่นหากมีการนำเข้าสินค้าที่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนเกินกว่าที่กฎหมายในประเทศกำหนด เป็นต้น

เราต้องยอมรับว่าระดับการพัฒนาของประเทศไม่เท่ากันดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วย่อมมีกฎหมายที่มีระดับมาตรฐาน "สูง" กว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯจะต้องผลิตให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายแต่ในทางกลับกันสินค้าจากสหรัฐฯที่ส่งออกจะมีปัญหาน้อยกว่าเพราะประเทศนำเข้าจะไม่มีมาตรฐานสูงเท่า ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาจึงย่อมจะ "ถูกใช้" มาตรการเหล่านี้มากกว่าจะเป็นฝ่าย "ใช้" แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือทำไม Donald Trump จึงเห็นว่ามาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเหล่านี้เป็นปัญหาต่อสินค้าส่งออกของตน? คำตอบคือ 1) สินค้าส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนาเช่นจีน ไทย ฯลฯ นั้นสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานสหรัฐฯ และในราคาถูกกว่าปัญหานี้จึงเป็นเรื่องการลดต้นทุนของสหรัฐฯ

ผมจึงเสนอให้สหรัฐฯแก้ไขค่าแรงงานซึ่งสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาถึง 10 เท่าโดยประมาณ2)ในทางกลับกันสินค้าที่ส่งออกจากสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับสินค้าชนิดเดียวกันที่ส่งไปขายในประเทศที่ 3 เช่นรถยนต์ 3) สหรัฐฯ ต้องเข้าใจว่าสินค้าเกษตรเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของทุกประเทศ (ซึ่งรวมทั้งสหรัฐฯด้วย) และมาตรการด้านสุขอนามัยของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกันเช่นประเทศไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรแต่สหรัฐฯอนุญาตการใช้สารนี้ได้ ดังนั้นไทยย่อมมีสิทธิที่จะห้ามนำเข้าชิ้นส่วนสุกร 4) อัตราแลกเปลี่ยนของจีนที่อ่อนเกินความจริงเป็นเหตุให้สินค้าจากสหรัฐฯ แพงเกินไปหรือในทางกลับกันจีนได้เปรียบคนอื่นเพราะสามารถขายสินค้าราคาต่อหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯถูกกว่า แต่ประเด็นนี้ไม่น่าจะกระทบสหรัฐฯโดยตรงเพราะทุกประเทศที่ค้าขายหรือแข่งกับจีนก็ประสบปัญหาเดียวกัน การขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะสินค้าจากจีนก็ต้องขึ้นกับสินค้าชนิดเดียวกันจากทุกประเทศด้วย นอกจากพิสูจน์ได้ว่าจีนได้ทำเช่นนั้นจริงซึ่งต้องใช้เวลา

การปกป้องตลาดเป็นเรื่องปกติไม่ว่าจะมีข้อตกลงการค้าเสรีหรือไม่ดังนั้นหากประธานาธิบดี Trump ต้องการจะชนะเกมนี้แล้ว ผมเสนอให้ปรับปรุงและพัฒนาแทนที่จะถอยหลังกลับไปใช้การปกป้องตลาดและบังคับให้ประเทศอื่นซื้อสินค้าของตนเพราะโลกสมัยใหม่นั้นไม่สามารถทำได้เหมือนในอดีตยุคล่าเมืองขึ้นอีกต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560