โอกาสเจาะตลาดยูกันดา ของสินค้าเครื่องจักรกลเกษตรไทย

02 เม.ย. 2560 | 11:00 น.
ยูกันดา ประเทศทางฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาเป็นประเทศที่อาจจะไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ประกอบการไทยในการทำการค้าการลงทุนมากนัก หากแต่ด้วยปริมาณประชากรกว่า 40 ล้านคน และศักยภาพทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งน้ำมันดิบ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ยูกันดามีแหล่งน้ำมันดิบปริมาณราว 6,500 ล้านบาร์เรล แต่ยังไม่ได้ขุดเจาะขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังมีแร่ธาตุสำคัญประกอบไปด้วยทองคำ ทองแดง โคบอลต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยูกันดายังมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่สมบูรณ์ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

TP20-3249-C อุตสาหกรรมหลักของประเทศยูกันดา ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล และสิ่งทอจากฝ้าย สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กาแฟ ชา ดอกไม้ และพืชสวน โดยที่ผ่านมารัฐบาลยูกันดาได้ผลักดันการพัฒนาพืชเศรษฐกิจสำหรับการเพาะปลูกและส่งเสริมการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะนี้รัฐบาลยูกันดากำลังจะดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรแบบแบ่งโซนเพาะปลูก ซึ่งยูกันดาได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารโลก มูลค่า 248 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 8,615 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรทั้งในภาคการเพาะปลูกและภาคปศุสัตว์ให้มีความเข้มแข็ง โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ระบุปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกและการปศุสัตว์พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข โดยมีรัฐบาลยูกันดาให้การสนับสนุนทุกขั้นตอนโครงการนี้จะครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยปีแรกเป็นโครงการนำร่องใน 5 พื้นที่ของประเทศสำหรับพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาร ถั่วชนิดต่าง ๆ มันสำปะหลัง และกาแฟ

รัฐบาลยูกันดาคาดหวังให้โครงการนี้ยกระดับอัตราการเติบโตภาคการเกษตรเป็น6% จากเดิมที่ปี 2559 ขยายตัวเพียง3% โดยจะส่งเสริมความเข้มแข็งของสหกรณ์เพื่อเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบการจัดซื้ออุปกรณ์การเกษตร ปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตรที่สมาชิกของสหกรณ์ฯ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้โดยเสียค่าใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลยูกันดายังจะส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตร ซึ่งจะมี Bank of Uganda สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรในกิจการเพาะปลูก ปศุสัตว์ และการแปรรูปผลผลิต

นโยบายการสนับสนุนด้านการเกษตรอย่างจริงจังของรัฐบาลยูกันดาในครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่ตอบสนองความต้องการของภาคการเกษตร และมีประสิทธิภาพการผลิตในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่ยูกันดายังขาดความเชี่ยวชาญสำหรับการพัฒนาในด้านการเกษตร จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านการเกษตรที่จะร่วมมือกับยูกันดา รวมทั้งขยายตลาดการส่งออกในกลุ่มสินค้าเครื่องมือทางการเกษตร อาทิ เครื่องจักรสีข้าวขนาดเล็ก อุปกรณ์ทางการเกษตร ปุ๋ย และเครื่องมือทางการเกษตรอื่นๆ

TP20-3249-D ยูกันดาเป็นประเทศคู่ค้าของไทย โดยมีการค้าระหว่างกันในปี 2559ที่มูลค่า12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 420 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยที่ส่งออกไปยังยูกันดาได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น ถึงแม้ตัวเลขทางการค้าจะมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่นโยบายส่งเสริมทางการเกษตรที่รัฐบาลยูกันดาผลักดันอยู่นี้ถือเป็นการเปิดโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมทางการเกษตรของไทยสามารถส่งออกสินค้าเครื่องจักรกลเกษตรได้มากขึ้น ไม่เฉพาะในยูกันดาเท่านั้นที่เริ่มให้ความสำคัญต่อการเกษตรอุตสาหกรรม ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาอื่นๆ อาทิ ไนจีเรีย เอธิโอเปีย แทนซาเนีย เริ่มใช้นโยบายส่งเสริมการเกษตรที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรรีรอที่จะคว้าโอกาสเหล่านี้ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการบริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรจากอินเดียและจีนเริ่มเข้าไปดำเนินกิจการค้าขายเครื่องจักรกลเกษตรประเภทต่าง ๆ ในยูกันดาแล้ว

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560