ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังส่งสัญญาณฟื้นตัว ความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรปกลับเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ทุกเมื่อ รวมถึงจะกระทบต่อไทยผ่านตลาดการเงิน การเคลื่อนไหวของเงินทุน และการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งผลการเลือกตั้งในประเทศที่สำคัญจะเป็นเครื่องชี้วัดความนิยมของประชาชนต่อแนวคิดการรวมตัวกันทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (European Union: EU) โดยความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจใน EU ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้เงินสกุลเดียวกันยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความแตกร้าวและอาจเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันใน EU ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้นำในฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี เป็นสิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ครอบคลุม 65% ของเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งหมด และจะกำหนดชะตาของ EU
ฝรั่งเศส - โอกาสที่จะเกิด Frexit ยังเป็นไปได้ยาก แม้ Marine Le Pen จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งผู้นำของฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน และ 7 พฤษภาคม ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนมาแล้ว โดยสะท้อนผ่านส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสและพันธบัตรเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ในวันที่ Marine Le Pen แถลงนโยบายว่าต้องการนำฝรั่งเศสออกจาก EU (รูปที่ 1) อย่างไรก็ดี ผลสำรวจล่าสุดของ Financial Times ณ วันที่ 29 มีนาคม บ่งชี้ว่า Marine Le Pen ผู้นำจากพรรค National Front พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด มีโอกาสสูงที่จะเป็นหนึ่งในสองผู้สมัครที่สามารถเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบสุดท้าย แต่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่จะชนะการเลือกตั้งรอบสุดท้ายและขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป โดยอาจพ่ายแพ้ให้กับ Emmanuel Macron อดีตแกนนำพรรครัฐบาลที่ผันตัวเป็นผู้สมัครอิสระ นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า Marine Le Pen จะชนะการเลือกตั้งในโค้งสุดท้ายและได้เป็นประธานาธิบดี เธอก็ไม่สามารถจัดตั้งประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ได้ในทันที เนื่องจากยังต้องผ่านกระบวนการและความเห็นชอบของรัฐสภา อีกทั้งจากผลสำรวจของ Ifop เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 พบว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสกว่า 67% ยังเลือกที่จะอยู่ใน EU ต่อไป
เยอรมนี - กระแสการต่อต้านผู้อพยพกดดันคะแนนนิยมต่อ Angela Merkel ในการชิงตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 4 การลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ของ Angela Merkel ท้าทายมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะนอกจากที่เธอต้องนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและฟันฝ่าความนิยมที่มีมากขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด เธอยังต้องต่อสู้กับกระแสการต่อต้านผู้อพยพในเยอรมนีที่ทำให้คะแนนความนิยมของเธอลดลง โดยนโยบายการควบคุมจำนวนผู้อพยพของพรรคการเมืองขวาจัด The Alternative for Germany (AfD) ทำให้พรรค AfD ซึ่งมีแนวคิดที่จะแยกตัวออกจาก EU สามารถเอาชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ในบางรัฐได้ อย่างไรก็ตาม ความนิยมของพรรค AfD ในการเลือกตั้งผู้นำเยอรมนียังมีไม่มากนัก โดยคู่แข่งคนสำคัญของ Merkel กลับเป็น Martin Schulz อดีตประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป ผู้นำจากพรรค Social Democrats (SPD) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน EU ประเด็นการแยกตัวออกจาก EU ของเยอรมนีจึงถือว่าไม่เป็นที่น่ากังวล
อิตาลี - ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด Five Star Movement (M5S) อาจนำมาซึ่งการถอนตัวออกจาก EU หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพ่ายแพ้ในการลงประชามติเพื่อปฏิรูปรัฐสภาในช่วงปลายปี 2016 คะแนนนิยมของพรรคที่ต่อต้าน EU อย่าง Five Star Movement (M5S) ก็เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันความนิยมในเงินสกุลยูโรของชาวอิตาลียังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 41% จากผลสำรวจของ Eurobarometer ทั้งนี้ กระแสการต่อต้าน EU ที่เพิ่มขึ้นในอิตาลีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง โดยเฉพาะในภาคธนาคารที่มีหนี้เสียถึง 18% โดยอิตาลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เงินสกุลเดียวและกฎเกณฑ์ของ EU ทั้งนี้ การใช้เงินสกุลเดียวทำให้เศรษฐกิจที่อ่อนแอของอิตาลีฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากค่าเงินยูโรยังคงผูกกับเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่งกว่าอย่างเยอรมนี ซึ่งทำให้เงินยูโรไม่อ่อนค่าลงเท่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ อิตาลียังเคยประสบปัญหาจากกฎเกณฑ์ของ EU ในประเด็นที่รัฐบาลอิตาลีต้องการนำเงินทุนไปช่วยเหลือภาคธนาคารที่กำลังประสบปัญหา (bail out) แต่เนื่องจากกฎใหม่ของ EU กำหนดให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของธนาคารที่ประสบปัญหาต้องรับผลสูญเสียอย่างน้อย 8% ของหนี้สินของธนาคาร ก่อนที่ภาครัฐจะใช้เงินเข้าช่วยได้ (bail in) ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก แม้ประเด็นดังกล่าวเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ก็มีประชาชนไม่น้อยที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและต้องการให้อิตาลีออกจาก EU