อัคราฯดิ้นขอพบ “ประยุทธ์” เคลียร์ข้อพิพาทปิดเหมืองทองคำ จ.พิจิตร ให้เวลา 3 เดือน หาทางออก ก่อนส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เหตุละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียพร้อมเรียกค่าชดเชยไม่ตํ่ากว่า 1,000 ล้านบาท
กลางปี 2559 และตามมาตรา 44 สั่งระงับการสำรวจและทำเหมืองแร่ การต่อประทานบัตร รวมถึงการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมหรือโรงถลุงแร่ กำลังจะกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศขึ้นมา
เมื่อบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน ในเหมืองแร่ชาตรี จังหวัดพิจิตร มีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด จากออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เตรียมที่จะทำเรื่องไปยังอนุญาโตตุลาการต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หลังจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสั่งปิดเหมืองแร่ทองดำดังกล่าว รวมถึงการไม่ต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย
โดยเมื่อวนที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ทางบริษัท อัคราฯได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความจำนงขอเข้าพบในการหารือ เนื่องจากเป็นเวลากว่า 11 เดือนแล้วที่บริษัท ได้ขอเข้าพบ ในการให้ข้อมูล ภายหลังจากที่มีคำสั่งให้เหมืองแร่ทองคำชาตรียุติการประกอบกิจการภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 หากไม่มีการตอบกลับจากรัฐบาล ก็จะนำเรื่องดังกลาวเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทกับรัฐบาลต่อไป
นายนายเกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลได้ดำเนินการสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ บริษัทได้มีความพยายามที่จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อหารือและชี้แจ้งข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด ซึ่งไม่เข้าใจว่าด้วยเหตุผลใด
ดังนั้น เมื่อบริษัทมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อขอหารือกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ตามแนวทางการปฏิบัติตามสิทธิภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) หากรัฐบาลยังเพิกเฉยไม่ตอบรับภายใน 3 เดือนนี้ บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามสิทธิในส่วนของการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนภายใต้ข้อตกลง TAFTA เพื่อหาข้อยุติเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมกับการเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลไทย จากการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผยว่า การที่บริษัท อัคราฯ จะยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อระงับข้อพิพาทการลงทุนนั้น ก็เป็นสิทธิที่อัคราฯสามารถดำเนินการได้ตามสิทธิ หากเห็นว่ารัฐบาลไทยดำเนินงานขัดต่อข้อตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่ให้การคุ้มครองนักลงทุนทั้ง 2 ฝ่าย แต่กว่าจะไปถึงกระบวนการนั้นก็จะต้องมีการหารือกันหากอัครายังไม่พอใจ ถึงจะยื่นเรื่องไปได้เพื่อให้อนุญาโตตุลาการตัดสิน
โดยขณะนี้ทางกพร.ยังไม่ได้รับการประสานจากบริษัทอัคราฯที่จะเข้ามาหารือแต่อย่างใด ซึ่งการปิดเหมืองแร่ทองคำทางภาครัฐยังยืนยันว่าดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่มีอยู่ อีกทั้ง คำสั่งตามมาตรา 44 ก็ระบุเหตุผลในการปิดที่ชัดเจนว่า ได้มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําเนื่องจากการประกอบกิจการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคําหลายแห่ง ซึ่งยังต้องรอการตรวจสอบ วิเคราะห์และวินิจฉัยในข้อเท็จจริง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560