เสนอให้แรงงานต่างด้าว ทำงานในระยอง ปราจีนบุรี ลำพูน

20 เม.ย. 2560 | 08:20 น.
กระทรวงแรงงาน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานพิจารณา เพิ่มจังหวัดที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านสามารถเดินทางไปทำงานได้ในลักษณะตามฤดูกาล

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม คณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ที่มีพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560-2564 และตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์การการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560-2564 เพื่อมาขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

รวมทั้งพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรหรือแรงงานตามฤดูกาล ในจังหวัดที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มรายชื่อจังหวัดที่มีความจำเป็นด้วย เช่น จังหวัดระยอง ปราจีนบุรี และลำพูน เพื่อให้แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 14 สามารถเดินทางไปทำงานได้ในลักษณะตามฤดูกาล

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีข้อห่วงใยเรื่องความมั่นคง เนื่องจากเป็นแรงงานที่ไม่มีหนังสือเดินทาง แต่ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวเข้ามาทำงานเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) พิจารณาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ หากได้รับความเห็นชอบจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ที่ประชุมได้รายงานการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2560 ซึ่งมีแรงงานยื่นขออนุญาตทั้งหมด 107,908 คน และขณะนี้เดินทางกลับมาแล้ว 47,556 คน ซึ่งเมื่อครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2560 หากแรงงานต่างด้าวยังไม่เดินทางกลับมาและต้องการเข้ามาทำงานใหม่ จะต้องขออนุญาตเข้ามาอย่างถูกต้องโดยใช้หนังสือเดินทางเท่านั้น ทั้งนี้หลังวันที่ 30 เมษายน จะมีการตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวกับนายจ้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบทำงาน หากตรวจพบว่านายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวที่กลับมาทำงานหลังผ่อนผัน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ... ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการปรับในอัตราโทษสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใหม่ โดยโทษปรับเริ่มตั้งแต่ 400,000 บาทจนถึง 800,000 บาท แต่หากมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 800,000 บาท – 2 ล้านบาท