ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นยุคที่ไทยเร่งเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กำลังก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและท่าเรือแหลมฉบัง กับพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบว่ามีการนำสินค้าปูนซีเมนต์ น้ำมันก๊าซ และสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์หันมาใช้การขนส่งด้วยระบบรางกันมากขึ้นในปัจจุบัน
รถไฟทางคู่เส้นทางนี้มีระยะทาง 106 กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางเพิ่มใหม่อีก 1 ทาง เริ่มต้นจากสถานีฉะเชิงเทราถึงสถานีแก่งคอย ซึ่งมีการก่อสร้างทางคู่เลี่ยงเมือง 2 ทางเพื่อใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองจำนวน 3 แห่ง ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร ได้แก่ 1.จุดชุมทางฉะเชิงเทรา(ระหว่างกม.61+190 ถึง กม.62+600) เชื่อมสายคลองสิบเก้า-แก่งคอย กับฉะเชิงเทรา-สัตหีบ ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร 2.จุดชุมทางบ้านภาชี (ระหว่างกม.92+000 ถึงกม.93+600) เชื่อมสายเหนือกับสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร และ 3.จุดชุมทางแก่งคอย (ระหว่างกม.163+350 ถึง กม.167+400) เชื่อมสายตะวันออกเฉียงเหนือกับฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 4.05 กิโลเมตร
ในการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง ระยะทาง 97 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 กำหนดแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 25612 ปัจจุบันก้าวหน้าไปแล้ว 15.85% ส่วนสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ ระยะทาง 9 กิโลเมตร (รวมอุโมงค์ 1.2 กิโลเมตร) เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 กำหนดแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2561 ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 23.32%
โดยจุดสำคัญในการก่อสร้างอุโมงค์บริเวณเขาพระพุทธฉาย ที่ก่อสร้างขนานไปกับอุโมงค์เดิม เริ่มจาก กม.147+100 ถึง กม.148+307 ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร อีกทั้งยังได้มีการก่อสร้างสถานีเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีไผ่นาบุญ ช่วง กม.162+819 ระหว่างสถานีบุใหญ่และสถานีแก่งคอย ตลอดจนการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมให้แล้วเสร็จตามแผน
โครงการดังกล่าวเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่ง ไปสู่เมืองศูนย์กลางของภูมิภาค ช่วยเชื่อมโยงกับเส้นทางสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาสู่การค้าหลักและประตูการค้าชายแดน ต่อไป
ดังนั้นคงต้องอดใจรออีกสักนิดรถไฟทางคู่เส้นทางนี้ก็จะทยอยเปิดให้บริการ โดยตามแผนนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งเส้นทางในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ร.ฟ.ท.จะเร่งเปิดให้บริการเดินรถช่วงแรกในเดือนตุลาคม 2560 นี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560