ชงร่างกฎหมายเร่งด่วนปฏิรูป ‘ศก.ฐานราก-โลจิสติกส์’

01 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
ผลการประชุม “คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” (ป.ย.ป.) ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้สรุปจัดลำดับความสำคัญการปฏิรูป แก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนในประเด็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งได้นำวาระการปฏิรูปประเทศของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาผนวกรวมเข้ากับเป้าหมายการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลั่นกรองตกผลึก จาก 137 เรื่อง 11 ด้านการปฏิรูปของ สปท. มาเป็น 27 วาระสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเร่งรัดตามแผนและข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปในปี 2560

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 เปิดกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการดำเนินการในส่วนของสปท.ว่า มีกฎหมายที่จำเป็นที่ทาง สปท.ต้องเร่งรัดพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน โดยกลุ่มงานการปฏิรูปพัฒนาเครื่องมือฐานราก และกลุ่มงานการปฏิรูปเศรษฐกิจในอนาคต ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ขณะนี้อยู่ในช่วงของการพิจารณากลุ่มงานปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติ อาทิ แรงงาน และการศึกษา เป็นต้น รวมถึงกลุ่มงานการปฏิรูปกลไกภาครัฐ และกลุ่มงานการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่า ภายใน 3 เดือนนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบให้กับ ป.ย.ป. ผ่านคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

ทั้งนี้ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตั้งเป้าเร่งรัดผลักดันร่างกฎหมายใหม่ พร้อมปรับปรุงแก้ไขเติมเต็มกฎหมายที่มีอยู่ให้ทันสมัย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่สำคัญและเร่งด่วนในปีนี้หลายฉบับ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม เรื่องโลจิสติกส์ และการปฏิรูปด้านการท่องเที่ยว โดยสามารถจัดแบ่งตามความคืบหน้าได้ดังนี้

[caption id="attachment_144472" align="aligncenter" width="503"] ชงร่างกฎหมายเร่งด่วนปฏิรูป ‘ศก.ฐานราก-โลจิสติกส์’ ชงร่างกฎหมายเร่งด่วนปฏิรูป ‘ศก.ฐานราก-โลจิสติกส์’[/caption]

กลุ่มแรก อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.... สาระสำคัญ เป็นการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบกิจการภาคเอกชนเข้ามาประกอบกิจการ ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้สังคม หรือสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างเหมาะสม ยั่งยืน

โดยกำหนดให้มี“คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ” มีนายกรัฐมนตรี เป็น ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติต่อ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงแก้ไขกฎหมายควบคุมดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นต้น รวมถึงให้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ เป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี

 ชงตั้งธนาคารที่ดิน
กลุ่มที่ 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของส่วนราชการมีอย่างน้อย 3-4 ฉบับ ดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ...ซึ่งมีสาระสำคัญให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” ขึ้นเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนมีที่ดินร่วมกัน กำหนดให้ธนาคารที่ดินให้กู้ยืมเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตกร ผู้ยากจนหรือชุมชน เพื่อการไถ่ถอนจำนอง ขายฝากและกู้ซื้อที่ดิน รวมถึงบริหารจัดการที่ดินที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ยากจน หรือชุมชนเช่าทำประโยชน์ เป็นต้น

ให้มี“คณะกรรมการที่ดิน”โดย ครม.แต่งตั้ง ประธานกรรมการ จากผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูงด้านการบริหาร การเงินการธนาคาร ตลอดจนการจัดการที่ดินอสังหาริมทรัพย์หรือวิทยากรอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของธนาคาร เพื่อกำหนดนโยบาย ให้ความเห็นชอบแผนดำเนินงาน แผนการลงทุน การเงิน และงบประมาณประจำปี ประเมินผลปฏิบัติงานของผู้อำนวยการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ควบคุมดูแลดำเนินงานและบริหารงานทั่วไป ออกระเบียบข้อบังคับ หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวกับธนาคารที่ดิน ให้เสนอรายงานประจำปี และความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคารที่ดิน เป็นต้น

ชูสถาบันการเงินชุมชน
2.ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน พ.ศ....สาระสำคัญ เสนอให้มีการจัดตั้ง “สถาบันการเงินชุมชน”ในพื้นที่ที่มีศักยภาพโดยเน้นการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายสถาบันการเงินชุมชน ให้จัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชน” ภายใต้กระทรวงการคลังเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จัดทำแผนแม่บท บูรณาการการทำงานภาคส่วนต่างๆ ออกระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดตั้ง จดทะเบียนและการดำเนินการ รวมถึงกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และผลตอบแทนของสมาชิก เป็นต้น

กำหนดให้คณะกรรมการกำหนดให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เป็น ธนาคารผู้ประสานงานของโครงข่ายสถาบันการเงินชุมชน ทำงานสนับสนุนการจัดตั้ง พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการให้บริการทางกาเรงิน ระบบการโอนเงิน ระบบบัญชีพัฒนาศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านการเงิน การบัญชีและการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรเพื่อยกระดับมาตรฐานและให้บริการทางการเงินแก่สถาบันการเงินชุมชน ให้จัดตั้ง“กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชน” มีฐานะเป็นนิติบุคคลในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำงานส่งเสริมและพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชนให้มีความครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ

-เร่งก.ม.จัดตั้งสนง.โลจิสติกส์
และ 3.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ พ.ศ.... สาระสำคัญ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อการขับเคลื่อนโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง “สำนักงานโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ”

รวมถึงคณะกรรมการของสำนักงานดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สภาโลจิสติกส์แห่งชาติ โดยให้ กบส.พิจารณาและเสนอต่อ ครม.เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผลักดันให้เกิด สภาโลจิสติสก์แห่งชาติ ขึ้นเป็นหน่วยงานกำกับดูแลรับผิดชอบการพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีมาตรฐานสากลรองรับและสนับสนุนการปฏิบัติการโลจิสติกส์ สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ พัฒนาระบบการจัดการดำเนินงานทุกด้านที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ

กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการของ สปท.อีก 2 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล และ 2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยสาระสำคัญ เพื่อการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐให้เป็นแบบดิจิทัลรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ให้มีระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ และลดการใช้กระดาษ โดยเปลี่ยนรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในการยืนยันตัวตนแทน เป็นต้น
นี่คือบางส่วนของร่างกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ให้ได้โดยเร็ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560