ยิ่งลักษณ์&ปาร์ก กึน เฮ ร่วมชะตากรรมการเมือง...คดีใครจบก่อน?

03 พ.ค. 2560 | 13:00 น.
ปาร์ก กิน เฮ อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้วัย 64 ปี กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย วัย 44 ปี มีจังหวะชีวิตการเมืองที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์ทั้ง 2 คน คือ ทายาททางการเมืองของอดีตผู้นำเหมือนกัน โดย ปาร์ก กินเฮ เป็นบุตรสาวคนโตของ อดีตประธานาธิบดี ปาร์ก จุง ฮี ผู้โด่งดังของเกาหลีใต้เธอเป็นทายาททางการเมืองหลังบิดาถูกสังหารในปี 2522 สะสมประสบการณ์ทางการเมืองมาไม่น้อยก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พรมแดนใหม่ และประสบความสำเร็จในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด

ขณะที่ยิ่งลักษณ์ น้องสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ไร้ประสบการณ์ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง แต่ อดีตนายกฯทักษิณผลักดันขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ และสมาชิกครอบครัวชินวัตรถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นคนที่ 2

อดีตผู้นำหญิงทั้ง 2 คน มีช่วงเวลาการขึ้นสู่อำนาจที่คาบเกี่ยวกัน โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ส่วนปาร์ก กิน เฮ สาบานตนขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ปี 2556 ห่างกันเพียงปีเศษ ระหว่างดำรงตำแหน่ง ยิ่งลักษณ์ ถูกวิจารณ์ว่าเธอถูกกำกับบทโดย อดีตนายกฯทักษิณพี่ชายและถูกวิพากษ์เรื่อง ประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหาร การกล่าวผิดพลาดในที่สาธารณบ่อยครั้งเช่น อ่านคำว่าหญ้าแฝก เป็นหญ้าแพรก ถูกนำมายืนยันข้อสรุปดังกล่าว ส่วนปาร์ก กิน เฮ หลังขึ้นกุมอำนาจในทำเนียบสีน้ำเงินเพียงปีเศษ กลับโดนแฉภายหลังว่า เธอถูกครอบงำโดย นางซอย ซุน ซิว เพื่อนสาวคนสนิทที่สื่อมวลชนเกาหลีใต้ให้สมญาว่า “รัสปูตินหญิง”โดยหนึ่งในข้อกล่าวหาคือ ให้เพื่อนสาวคนสนิทแก้สุนทรพจน์ของเธอ

ถัดมาหลังลงจากเก้าอี้ทั้ง 2 คนถูกกล่าวหาดำเนินคดีเหมือนกัน โดย อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหา ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่ถูกวิจารณ์ว่ามีการโกงทุกขั้นตอน ส่วน ปาร์ค กินเฮ เจอข้อกล่าวหาชุดใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ ใช้อำนาจโดยมิชอบและคดีรับสินบนจากเงินบริจาค

ด้านรูปคดี ในคดีทางการเมือง หลัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) วันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)สนช.)มีมติ 190 ต่อ 18 เสียง (ไม่ออกเสียง 8 และบัตรเสีย 3) ถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวและถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เช่นเดียวกับ ปาร์ก กิน เฮ หลังถูกกล่าวหา ว่าพัวพันกับ คดีรับสินบน จากเงินบริจาค 69.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 2.4 พันล้านบาท) ของเพื่อนสาวคนสนิท จากบริษัทใหญ่รวมทั้งกลุ่มซัมซุง

ทั้งนี้ รัฐสภาเกาหลีใต้ มีมติถอดถอนจากกรณีคอรัปชั่นฉาว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ด้วยมติ 234 ต่อ 56 เสียง มากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 300 คน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ(เกาหลีใต้) มีมติถอดถอน ปาร์ก ออกจากตำแหน่งในอีก 3 เดือนต่อมา (10 มีนาคม 2560) โดยศาลฯ วินิจฉัยว่า ปาร์ก ละเมิดกฎหมายให้เพื่อสาวคนสนิทก้าวก่ายงานรัฐบาล

คดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์อัยการสูงสุดยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 กล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พระราชบัญญัติ (พรบ.)ว่าด้วยการป้องและปราบปรามทุจริตพ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123/1 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสูงสุดไว้ไม่เกิน 10 ปี ส่วนคดีของ อดีตประธานาธิบดีปาร์ก สื่อต่างประเทศรายงานว่า เธอ ถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งสิ้น 13 ข้อรวมทั้งพัวพันกับคดีสินบน โดยโทษสูงสุดตามข้อกล่าวหาของอดีตประธานาธิบดีปาร์ก คือจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต ปัจจุบัน อดีตประธานาธิบดี ปาร์ก ถูกกุมขังระหว่างรอการไต่สวน

อย่างไรก็ดีรูปคดีและบทลงโทษระหว่าง อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ และ อดีตประธานาธิบดี ปาร์ก ต่างกันตรงที่ว่า อดีตนายกฯของไทยนอกจากคดีทางการเมืองและอาญาแล้ว มีโทษทางแพ่งอีกด้วย โดยคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ รัฐบาลประยุทธ์ ได้ตั้ง คณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่ง พิจารณาค่าเสียหาย และ คสช.ใช้คำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหาย จาก อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ กรณี ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงิน 3.57 หมื่นล้านบาท หรือ 20 % จากมูลค่าความเสียหายรวมของโครงการรับจำนำข้าว 1.78 แสนล้านบาท ส่วนคดีของอดีตปาร์กไม่มีความรับผิดทางแพ่งโดยคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ล่าสุดกรมบังคับคดีประกาศเริ่มกระบวนการยึดทรัพย์หลังศาลยกคำร้องขอทุเลาการบังคับใช้ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง

ลำดับจากเหตุการณ์ข้างต้นนับเป็นเรื่องบังเอิญ ๆ เป็นอย่างยิ่งที่ จังหวะชีวิตการเมืองของ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ กับ อดีตประธานาธิบดีปาร์ก เหมือนกันราวคู่แฝด จุดต่างหลักเพียงหนึ่งเดียวคือ อดีตผู้นำประเทศหนึ่ง ถูก ดำเนินคดีภายใต้สถานการณ์พิเศษ แต่ผู้นำอีกประเทศ กระบวนการเอาผิดดำเนินไปภายใต้บรรยากาศปกติ การคาดเคาบทจบคดีของอดีตผู้นำหญิงทั้งสองเปาการก้าวล่วงอำนาจศาล แต่ถ้าดูจากสถิติเดิม อดีตผู้นำเกาหลีใต้ ถูกพิพากษาถึงที่สุดจำคุกมาแล้วหลายคนต่างจากของไทยที่ยังไม่มีสถิติให้บันทึกกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560