เกาะติดประชุมสมาคมประมงสัญจรระยอง แพปลา 22 จังหวัดร้องทบทวน กม.ใหม่กรมเจ้าท่า

29 เม.ย. 2560 | 10:31 น.
 

สมาคมประมงจัดประชุมสัญจรระยอง  หวังแก้ปัญหาประมงในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลแก้ปัญหาไอยูยูฟิชชิ่ง เผยล่าสุด 22 จังหวัดชายทะเลร้องกระทบโรงงาน ส่งออก ลามธุรกิจท่องเที่ยว วอนกรมเจ้าท่าทบทวนกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านไทยฯ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"  ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2560 จัดสัญจรครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2560 ที่จังหวัดระยอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะหารือและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง รวมทั้งรับถึงสถานการณ์ปัญหาของชาวประมงในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากการทำการประมง ระเบียบ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"เรื่องที่มีสมาชิกร้องเรียนกันมาก ก็ได้ แก่ การซื้อเรือคืนของภาครัฐที่ยังไม่มีความคืบหน้า ผ่านมา 2 ปีแล้ว การวัดเรือใหม่ หากเรือเกินจะต้องโดนลดวันทำการประมงลง มีหลายคนไม่พอใจ รวมทั้ง เรื่องสิ่งปลูกสร้างล้วงลำน้ำฯ ผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560  ของกรมเจ้าท่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สมาคมประมงจังหวัดต่างๆ 22 จังหวัด อาทิ นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา สงขลา และปัตตานี เป็นต้น เดือดร้อนเพราะบางจังหวัดเป็นวิถีชาวบ้าน แล้วจะใช้กฎหมายบังคับให้รื้อ ทิ้ง อยากให้กรมเจ้าทาช่วยหาทางออกให้ชาวประมง รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบด้วย"

สอดคล้องนายสุรินทร์ โลสงค์ นายกสมาคมประมงระนอง ที่ได้ยื่นหนังสือผ่านสมาคมประมง ฯ เผยสาระสำคัญกฎมายฉบับนี้ ทำให้มีผลกระทบเกี่ยวการขนถ่ายสินค้าประมง รถขนส่งสินค้าประมงทั้งในและต่างประเทศ โรงงานปลาป่น สินค้าที่นำเข้า-ส่งออกไปประเทศเมียนมา รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม เรือท่องเที่ยวระหว่างเกาะ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงแล่เนื้อปลาเพื่อทำลูกชิ้น โรงงงานผลิตปลาป่น โรงงานผลิตน้ำแข็งเพื่อการประมง และอู่ซ่อมเรือ เป็นต้น

"แพปลา แต่ละแพใช้เงินลงทุนเป็นหลายสิบล้าน กว่า 100 แพ เฉพาะในจังหวัดระนอง ดังนั้นอยากเสนอให้กรมเจ้าท่าทบทวนกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน แล้วเสนอให้วัดเนื้อที่ที่รุกน้ำออกไป เท่าไรถึงจะไม่กีดขวางทางน้ำ จากนั้นก็ควรออกใบอนุญาตการใช้ท่ามีการทำสัญญา ครั้งละ 10-20 ปี เสนอให้เก็บค่าตอบแทนเข้ารัฐเป็นรายปีให้คิดเป็นเมตรละ ตามเนื้อที่ ที่รุกล้ำจริง หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมในเร็วๆ นี้