141 เสียงสปท."ผ่านกม.คุมสื่อ" "คณิต"อ้าง! ถอยให้เเล้ว 2 เรื่อง

01 พ.ค. 2560 | 10:48 น.
วันที่ 1 พ.ค.60-เมื่อเวลา 09.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธานสปท.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชนเสนอ
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ชี้แจงว่า เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กมธ.รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และเมื่อเช้าวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้นัดประชุมกมธ.นัดพิเศษ เพื่อฟังข้อคัดค้านจากสื่อมวลชน กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมติเสียงข้างมากว่า จะขอปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น จึงไม่มีบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อมวลชนและเจ้าของสื่อตามมาตรา 91 และ 92 อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า กมธ.ยังเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ และส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน แต่ได้ปรับลดโควตาตัวแทนคณะกรรมการฯจากภาครัฐจาก 4 คน เหลือ 2 คน และเพิ่มโควตาให้มีคณะกรรมการฯที่เป็นตัวแทนจากสื่อเพิ่มเป็น 7 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการฯชี้แจงว่า กมธ.ยอมแก้ไขตัดมาตรา 91 และ 92 เรื่องบทลงโทษสื่อมวลชนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทิ้งไปตามข้อห่วงใยของสื่อมวลชน โดยจะเปลี่ยนจากใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นใบรับรองที่จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้ออกใบรับรองให้
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ชี้เเจงว่า "ส่วนคำนิยาม “สื่อมวลชน”ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ เจ้าของเพจที่มีแฟนเพจติดตามเป็นหมื่นๆคนด้วย เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นทั้งนักข่าว และบรรณาธิการ แต่ไม่มีสังกัด แม้จะอ้างว่า ไม่มีรายได้เป็นค่าตอบแทนโดยตรงจากงานที่ทำ แต่มีรายได้ทางอ้อมเกิดขึ้นจากรายได้โฆษณาออนไลน์ เพราะมีผู้ติดตามจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องบัญญัติให้กลุ่มเหล่านี้เป็นสื่อด้วย ยืนยันกมธ.ไม่มีเจตนาควบคุม แทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ต้องการให้การติดต่อสื่อสารอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมตามที่กฎหมายกำหนด"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกสปท.อภิปราย โดยความเห็นของสปท.เเบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ได้คัดค้านใน 3 ประเด็นคือ 1.เรื่องการให้จดทะเบียนสื่อมวลชนกับสภาวิชาชีพ 2.กรณีสภาวิชาชีพจะมีสัดส่วนตัวแทนรัฐ 2 คน มีช่องโหว่อันตรายให้รัฐแทรกแซงสื่อได้ โดยเสนอให้สื่อควบคุมกำกับดูแลกันเอง เพราะที่ผ่านมาดูแลกันเองได้ หลายกรณีได้ลงโทษสื่อมวลชนที่ขัดจริยธรรมเเล้ว ห้ามมีเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐมายุ่งเกี่ยว 3.ท้วงติงความไม่ชัดเจนในนิยามกฎหมายที่อาจครอบคลุมเกินเลยไปถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อ
โดยนายกษิต ภิรมย์ สปท.ได้ลุกขึ้นอภิปรายในเรื่องนี้ว่า “ผมเป็นนักการเมือง หากเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ถือว่า เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และต้องมีใบอนุญาตสื่อมวลชนหรือไม่” อีกทั้งยังมีสมาชิกสปท.บางคนอภิปรายว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพคือ มาตรา 26, 34 ,35 และ 77 จนอาจถึงขั้นมีการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ขณะที่ สปท.บางส่วนที่ลุกขึ้นอภิปรายเห็นด้วยกับกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ให้เหตุผลว่า สื่อขาดจรรยาบรรณควบคุมกันเองไม่ได้ สื่อบางสำนักสร้างความแตกแยก บิดเบือน เสนอข่าวโจมตีรัฐบาลกระทบต่อความมั่นคง ควรมีหน่วยงานกำกับดูแล และ เห็นด้วยให้มีสัดส่วนของรัฐเข้าไปในคณะกรรมการใดๆที่ตั้งขึ้นมาดูแลจริยธรรมสื่อ
โดยพล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สปท.อภิปรายว่า "สื่อเป็นคนไทยหรือไม่ ถ้าเป็น ต้องยอมรับกฏหมาย อย่าเป็นไปอภิสิทธิ์ชนเพียงกลุ่มเดียว ทุกคนต้องอยู่ในกฏระเบียบ อยู่ในกติกา ลองไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น มีกฏหมายเกี่ยวกับสื่อหมด เช่น สิงค์โปร์ สื่อต้องเป็นไปตามกติกา100 เปอร์เซ็นต์ ในจีนก็มี คนที่ไม่เคยได้รับผลกระทบต่อสื่อจะไม่รู้ สมัยที่ผมเป็นแม่ทัพภาค 2 ก็รบกับสื่อมาตลอด
กรณีผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน สื่อก็ลงไปเรื่อย ทั้งๆที่ไม่ต้องลงก็ได้ ในอังกฤษมีเหตุระเบิด แต่ก็ไม่เห็นมีการนำภาพคนเจ็บไปลง เพราะพวกเขาคงรู้ว่า ลงไปก็ไม่ก่อให้เกิดอะไร แต่สื่อของไทยลงเอามัน ทั้ง สื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ล้วนมีปัญหาหมด
วันก่อนเปิดไลน์ดู เห็นพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร. ไม่รู้ว่าอยากเล่นการเมืองหรือเปล่า ผมก็เคารพท่าน เป็นรุ่นพี่(เตรียมทหาร) รุ่น7 ผมอยู่รุ่น12 อยู่ดีๆไม่รู้เป็นอะไร มาด่าทหารว่าทหารมีพื้นที่ใหญ่โตในเมือง ไม่มีประโยชน์ เอาหินขว้างไปในค่ายถูกหัวพล.อ.หมด พูดมาทำไม ผมไม่เข้าใจ ไอ้สื่อพวกนี้จริงๆมันต้องจับไปยิงเป้า"
"พี่เสรีนั้น ผมบอกตรงๆ ผมอยากจะหาโทรศัพท์ จะโทรไปด่า ไม่เคารพเหมือนพี่แล้ว ถ้าแบบนี้ ถามมาได้ว่า รถถังซื้อมาทำไม วีรบุรุษนาแก เคยรบหรือเปล่า"พล.อ.ธวัชชัยกล่าว
ส่วนนายคุรุจิต นาครทรรพ สปท.อภิปรายเเสดงความเห็นด้วยกับกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชนที่เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เพราะสื่อควบคุมกันเองไม่ได้ จะลงโทษกันเองก็ไม่ได้ จึงไร้มาตรฐาน สื่อถูกสอนว่า สื่อมวลชนคือฐานันดรที่สี่ เป็นกระจกส่องสังคม ซึ่งควรต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ขอถามว่าสิทธิเสรีภาพที่สื่อมวลชน กดดันกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชนเมื่อ 2-3 วัน มีคุณภาพหรือไม่ พอที่จะเป็นกระจกใสส่องให้สังคมอย่างแท้จริงหรือไม่
"ที่ผ่านมาเวลาคนทั่วไป หน่วยงาน บริษัทห้างร้านมีเรื่อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ลงข่าวเสียหาย ข่าวไม่จริง แล้วคนไปร้องเรียน มีคำอุปมาอุปไมยว่า แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน เราจึงไม่เคยเห็นสื่อมวลชนด้วยกันเองลงโทษกันเองได้ ถ้าสื่อรักที่จะมีเสรีภาพ ก็ต้องรักที่จะมีเสรีภาพอย่างมีคุณภาพด้วย"
ล่าสุดเวลา 17.00 น. ที่ประชุมสปท. มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยมีคะแนน 141:13 งดออกเสียง 17 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชนเสนอ