แนะก้าวข้ามตีทะเบียนพรรค เลิกกำหนดค่าบำรุง-เพิ่มอำนาจสมาชิก

03 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
หลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา และสนช.มีมติรับหลักการวาระแรก ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ล่าสุดในการประชุมของ กมธ.มีเสียงท้วงติงและแขวนในหลายมาตรา โดยเฉพาะประเด็นเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคที่เดิมให้มีอย่างน้อย 1 ล้านบาท ทั้งยังไม่สรุปเรื่องให้สมาชิกจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท หรือไม่ เนื่องจากมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ให้มุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับร่าง.พ.ร.บ.พรรคการเมือง ในแต่ละประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์แก้ปัญหาสมาชิกพรรคที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคที่แท้จริง แต่เป็นสมาชิกพรรคที่รวบรวมรายชื่อมากรอกหรือเกณฑ์กันมา แนวคิดของกรธ.คือต้องให้เสียค่าสมาชิกโดยเชื่อว่าถ้าได้เสียค่าสมาชิกแล้วก็จะเป็นสมาชิกตัวจริง

  แนะไม่ควรกำหนดค่าสมาชิก
นายปริญญา ขยายความว่า สมาชิกพรรคในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองเข้มแข็งและมีสมาชิกพรรคที่เข้มแข็ง สมาชิกพรรคล้วนต้องจ่ายค่าสมาชิกพรรคทั้งนั้น เพียงแต่ว่าค่าบำรุงจะมีรูปแบบที่หลากหลายและสอดคล้องไปตามสถานะทางเศรษฐกิจของสมาชิก ไม่จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียว บางครั้งก็เป็นสมาชิกแบบออกแรง โดยไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิก

นอกจากกำหนดค่าสมาชิกแล้ว ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้ ทำให้เกิดระบบการจดทะเบียนพรรคแบบเข้มข้นมากกว่าเดิม คือระบบพรรคการเมืองแบบไทย ใครจะจดทะเบียนต้องได้รับอนุญาตให้ตั้งพรรค ถ้าใครไปดำเนินการเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้จดทะเบียนมีความผิดทางอาญา สมัยก่อนตอนเริ่มต้นผู้ที่ดูแลเรื่องนี้คือ กระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ใครต้องการตั้งพรรคการเมืองต้องไปขออนุญาต มีคุณสมบัติครบถ้วนก็จะให้ใบอนุญาตมารวบรวมสมาชิกพรรค มีเวลา 1 ปีในการรวบรวม ให้ได้ 5000 คน และหาสาขาพรรคให้ภาคละ 1 สาขา เมื่อรวบรวมครบภายใน 1 ปี จึงจะจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองได้

จนกระทั่งจุดเปลี่ยนในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ให้มีเพียงการจดแจ้ง หรือเรียกว่าจดแจ้งการจัดตั้ง คือให้การจัดตั้งเป็นเสรีภาพ ทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองคลายตัวลง แต่พอไปร่างในพร.บ.พรรคการเมือง ก็ยังให้จดทะเบียน เพียงแต่ระยะเวลามันเปลี่ยนไป คือ มี 15 คนก็ขอจดทะเบียนได้เลย ถ้าวัตถุประสงค์ไม่ขัดกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ภายใน 180 วันหรือ 6 เดือนต้องไปหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คน ภาคละ 1 สาขา ไม่เช่นนั้นจะถูกยุบพรรค พูดง่ายๆ คือระยะเวลาถูกเลื่อนไปอีก 6 เดือน จากเดิมให้ได้สมาชิก 5,000 คน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ปี 2541 ก็ขยับกลายเป็นหลังจากจดเป็นพรรคแล้ว ถ้าครึ่งปีหาสมาชิกไม่ได้ตามนั้นก็จะถูกยุบซึ่งผลก็เหมือนกัน เป็นการเลี่ยงคำว่าจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง กล่าวโดยสรุปคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 มีเจตนารมณ์ไม่ต้องขออนุญาตจัดตั้งพรรค ตั้งแล้วมาจดแจ้งอย่างเดียว แต่พอร่างกฎหมายลูกออกมากลับมาให้จดทะเบียนใหม่ และเลื่อนไปถ้าสมาชิกไม่ครบ

 หวั่นพรรคทุ่มจ่ายค่าสมาชิก
นายปริญญา กล่าวว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญปี 25550 ได้ปรับถ้อยคำว่าจากต้องถูกยุบพรรคเป็นสิ้นสภาพพรรคซึ่งจะง่ายขึ้น เพราะจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค แต่สิ้นสภาพพรรคคือ พอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบแล้วว่าสมาชิกพรรคและสาขาพรรคไม่ครบตามเงื่อนไขหรือเคยครบแล้วหายไป กกต.ก็ประกาศสิ้นสภาพพรรคแล้ว เว้นแต่ว่าพรรคที่สิ้นสภาพพรรคแล้ว เห็นว่าที่แท้จริงไม่สิ้นสภาพ แต่ กกต.ทำผิดก็ร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่โดยหลักทำให้ง่ายขึ้น พรรคการเมืองไทยพอจดทะเบียนพรรคแล้วก็จะมีสถานะเป็นนิติบุคคล

ถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำหนดให้ต้องมีสมาชิก 500 คน แต่เดิม 15 คน แต่เพิ่มเป็น 500 คน และมีเงื่อนไขว่าต้องออกเงินคนละ1,000 บาทเป็นอย่างน้อย และรวมกันให้ได้ 1ล้านบาท จะมีใครออกมากกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะล็อกไว้ห้ามเกินคนละ 3 แสนบาท คือให้สมาชิกช่วยกันออกรวมแล้วให้ได้ 1 ล้านบาท แล้วภายใน 1 ปี ต้องให้ได้สมาชิก 5,000 คน และภายใน 4 ปีต้องให้ได้สมาชิก 1 หมื่นคน เป็นระบบจดทะเบียนที่เข้มข้นกว่าเดิม เพราะของเดิมแค่ 5,000 แต่ครั้งนี้ 1 หมื่นคน เดิม 15 คนก็ขอจดแจ้งได้ แต่นี่ 500 คน โดยมีเงื่อนไขต้องมีทุนประเดิม

ถามว่าจะมีพรรคการเมืองสักกี่พรรคที่จะทำได้ เมื่อบวกกับการมีค่าสมาชิกพรรค 100 บาท หรือลดเหลือ 50 บาทก็ตาม ค่าบำรุงพรรคนั้นเป็นเรื่องดี แต่ในประเทศที่มีค่าสมาชิกพรรคไม่มีประเทศไหนเขียนไว้ว่าต้องมีสมาชิกพรรคกี่คน

“ ผมคิดว่า กรธ.ต้องเลือกอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าจะเอาระบบให้มีค่าสมาชิกพรรค การกำหนดสมาชิกขั้นต่ำด้วยก็จะมีปัญหาทันที พรรคการเมืองจะยอมให้พรรคสิ้นสภาพหรือ ก็ต้องไปหาจนได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม หรือพรรคช่วยออกเงินค่าสมาชิกให้เลยซึ่งเงินไม่ได้มากอะไร นายทุนพรรคก็สู้ไหวเพื่อให้พรรคอยู่ได้ ถามว่าจะมีประโยชน์อะไร”

นายปริญญา ย้ำว่า ถ้ามีตัวเลขขั้นต่ำของสมาชิกแล้ว ก็น่าจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวอย่างการสร้างแรงจูงใจที่ผิด เพราะไปบอกว่าให้เอาจำนวน ปี 2540 เป็นครั้งแรกที่ใช้จำนวนสมาชิกและจำนวนสาขาพรรคมาเป็นหลักเกณฑ์ เป็นการไปหาสมาชิกพรรคมาเพื่อขอกกต.จึงได้สมาชิกพรรคในแบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างแท้จริง

ตัวเลขง่ายๆก่อนที่จะประกาศใช้พ.ร.บ.พรรคการเมือง ในปี 2540 ตัวเลขสมาชิกพรรคการเมืองในประเทศไทย มีแค่ 2.5 ล้านคน ถึงปี 2545 ผ่านไป 4 ปี สมาชิกพรรคเพิ่มเป็น 25 ล้าน จำนวนนี้ 14 ล้านคนคือสมาชิกพรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยมีสาขาพรรคแค่ 10 สาขา ถ้าเฉลี่ยจะมีสมาชิก 1.4 ล้านคน ถามว่าประชุมสมาชิกพรรคอย่างไร นี่คือตัวอย่างการไม่ได้คิดจากรากฐานที่แท้จริง

“วิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้นการเก็บเงินค่าสมาชิกจึงเป็นสิ่งที่ดีที่จะให้ได้สมาชิกที่แท้จริง แต่เงินของแต่ละคนไม่ควรกำหนดเท่ากัน ขอให้มีช่องสำหรับสมาชิกแบบอื่นด้วย เช่น สมาชิกแบบออกแรง หรือแบบอื่นก็แล้วแต่ อย่ามีแค่สมาชิกจ่ายเงินอย่างเดียว”

 ควรเปิดช่องมีสมาชิกแบบออกแรง
นายปริญญา กล่าวว่า ถ้าจะเอาตัวเลขสมาชิกพรรคไม่ควรมีตัวเลขขั้นตํ่าเพราะจะเกิดการเกณฑ์และนายทุนพรรคออกให้ทันทีและตัวเลขสมาชิกขั้นต่ำของพรรค โดยหลักไม่ต้องมี ถ้ามีจะหาของไม่จริงมาใส่พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้นอกจากไม่ได้เปลี่ยนแนวทางอันผิดพลาดที่ผ่านมาที่มุ่งเน้นการจดทะเบียนพรรคและบังคับให้มีสมาชิกกับสาขาพรรคโดยกำหนดตัวเลขขั้นตํ่าไว้ที่ 5,000 คน กับสาขาภาคละ 1 สาขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องของสมาชิกที่แท้จริง มีส่วนหนึ่งที่เป็นสมาชิกพรรคที่แท้จริง อีกส่วนหนึ่งที่ไม่จริงมีเยอะมาก เพราะต้องหาสมาชิกให้ครบ

นอกจากไม่เปลี่ยนแนวทางแล้วยังหนักกว่าเก่าเพราะไปเพิ่มให้มีสมาชิกเป็น 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี ผมมองว่านี่เป็นโลกประชาธิปไตยยุคใหม่เขาหาทางข้ามพ้นพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาก ตอนนี้ในยุโรปมองหาประชาธิปไตยที่ไม่มีพรรคการเมืองอย่างเดียว แต่นี่เรายังมาอยู่ในระบบแบบเดิมอีก และหนักกว่าเดิม ค่าสมาชิกพรรคเป็นเรื่องดี ถ้าเป็นสมาชิกที่แท้จริง แต่ควรเปิดช่องให้มีสมาชิกอย่างใช้แรงด้วย และถ้าจะเอาค่าบำรุงพรรคในตัวเลขขั้นต่ำของสมาชิกพรรค 5,000 คน ใน 1 ปี ต้องเลิกเพราะมันไปด้วยกัน

“ประเทศที่มีเงินบำรุงพรรคไม่มีที่ไหนที่กำหนดค่าบำรุงพรรค แต่เสนอให้เพิ่มอำนาจของสมาชิกพรรคดีกว่า เพราะอำนาจที่แท้จริงของสมาชิกพรรคคือให้กำหนดว่าใครเป็นผู้สมัคร กติกาง่ายคือ ผู้สมัครของเลือกตั้งใดต้องเป็นสมาชิกพรรคของเขตเลือกตั้งนั้นเป็นคนลงมติ ส่วนกรรมการเป็นเพียงผู้เสนอให้สรรหาเพื่อให้สมาชิกพรรคเลือก หรือเป็นผู้จัดกระบวนการให้สมาชิกพรรคเลือก นั่นแหล่ะครับจึงจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง และจะเกิดสมาชิกพรรคที่แท้จริงขึ้นมาเอง

ผมเสนอว่าเราควรเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการจดทะเบียนพรรคการเมืองได้แล้ว ควรทำให้เบาบางลง ตรวจสอบว่าเป็นพรรคก็พอแล้วแล้วเสรีภาพ ไม่ต้องเข้มข้นเรื่องสาขาพรรค แล้วมาทำเองนี้คือ ให้การเลือกผู้สมัครของพรรคให้เป็นอำนาจของสมาชิกพรรค เขตเลือกตั้งใดก็เป็นอำนาจของสมาชิกพรรรคในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้กำหนด ถ้าแบบนี้คนจะอยากเป็นสมาชิกพรรคเพราะมีสิทธิในการโหวตเลือกผู้สมัครส.ส. ซึ่งเป็นระบบแบบยุโรปแบบอเมริกา นี่ต่างหากที่ควรจะทำ” นายปริญญา กล่าวให้แง่คิดในตอนท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560