ตั้งศูนย์ฯข้อมูลน้ำ ป่า และที่ดิน "ขึ้นตรงนายกฯ"

03 พ.ค. 2560 | 10:31 น.
วันที่ 3 พ.ค.60-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2560 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นให้มีการทบทวน แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรวมถึงการประกันภัยทางการเกษตร การสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ความเสี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการจัดหาแหล่งน้ำดิบในพื้นที่ที่ขาดแคลน รวมถึงการเร่งรัดจัดหาประปาหมู่บ้านให้ครบทุกหมู่บ้านให้เป็นไปตามแผนด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลน้ำ ป่า และที่ดิน โดยให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

6

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย มาอย่างต่อเนื่อง จากการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในวันนี้ มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้


1.นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกันแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นให้มีการทบทวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรวมถึงการประกันภัยทางการเกษตร เชื่อมโยงกับแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรโดยกระบวนการแปรรูป การสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ความเสี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และการจัดหาแหล่งน้ำดิบให้กับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ยังกำชับให้เร่งรัดจัดหาระบบประปาหมู่บ้านให้ครบทุกหมู่บ้านให้เป็นไปตามแผน พร้อมทั้งเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลน้ำ ป่า และที่ดิน โดยให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

2
2. การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำโดยความร่วมมือของกองทัพบกร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ จำนวน 22โครงการ ในพื้นที่ 15 จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก การกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ประมาณ 2600 ไร่ มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3.57 ล้านลูกบาศก์เมตร มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำแผนพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และหนองหาน จังหวัดสกลนคร โดยให้ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานให้ร่วมกันทบทวนการใช้ประโยชน์จากน้ำในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ สตึงนัม ซึ่งมีศักยภาพสามารถนำน้ำมาใช้ได้ในพื้นที่ภาคตะวันออก รองรับการพัฒนาได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำให้เป็นเจ้าภาพในการหารือเพื่อเร่งรัดการทบทวนและปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำตามภารกิจถ่ายโอนที่ได้มอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วประมาณหนึ่งหมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป
4

3. ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการกลั่นกรองแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยให้พิจารณาในแต่ละแผนที่ (Area base) ควบคู่กับการพิจารณาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

7

นอกจากนี้กนช.ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำชุดข้อมูลสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบผ่านสื่อต่างๆ แบ่งเป็น 4 หมวดหลัก ได้แก่ (1) การกักเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ และระบบการระบายน้ำในแต่ละสภาพภูมิประเทศ (2) ข้อมูลสถานการณ์น้ำ จำแนกเป็นรายภูมิภาคและความเชื่อมโยงในการใช้น้ำร่วมกัน (3) การดำเนินการของรัฐบาลทั้งที่เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยจำแนกเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และมาตรการระยะยาวที่มีความยั่งยืน (4) ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่มีการแก้ไขการบริหารจัดการน้ำ