‘เจษฎ์ โทณะวณิก’วิพากษ์เหตุปฏิรูปล่าช้าแนะดัน 4 เรื่องเร่งด่วน

10 พ.ค. 2560 | 08:00 น.
อนาคตการปฏิรูปการเมืองและการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นอีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเฝ้าจับตา ว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะผลักดันให้มีความคืบหน้าไปได้แค่ไหนเพียงไร ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 15-19 เดือนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมการสู่การเลือกตั้ง

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์นิติศาสตร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้

ในเรื่องการปฏิรูปในส่วนที่เป็นเรื่องระยะสั้น ยังพอมีเวลาทำได้อยู่ แต่ระยะกลางผมคิดว่าคงทำลำบากแล้ว ส่วนระยะยาวเป็นเรื่องที่ไปผูกโยงกับการทำงานของวุฒิสภาในระยะต่อไป ช่วงที่ผ่านมาเกือบ 3 ปีของการรัฐประหารนั้น การปฎิรูประยะสั้นไม่เกิดขึ้น เหตุที่ไม่เกิดหากจะให้ความเป็นธรรมกับคณะผู้บริหาราชการแผ่นดิน คือรัฐบาลและคสช.เวลานี้ เหตุที่ไม่เกิดอันหนึ่งคือคสช.ไปทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินค่อนข้างมาก คือไปทำงานลักษณะวันต่อวัน แก้ปัญหาจริงในเรื่องปากเรื่องท้อง ในเรื่องที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ไม่มีคุณภาพ ท่านไปใช้เวลากับสิ่งเหล่านั้น ทำให้การใช้เวลากับสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปมันไม่เกิด

พอท่านมาตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ป.ย.ป.ก็ไปปั้มคณะรัฐมนตรีมาเป็นคณะทำงานอีก นายกรัฐมนตรีก็มานั่งเป็นประธานในทุกชุดย่อยอีก รวมทั้งคสช.ด้วย ซึ่งถ้าพูดกันตรงไปตรงมาทำอย่างนี้ไม่สำเร็จ เพราะท่านยังเอางานมาไว้กับตัวท่าน

+ชี้เหตุปฏิรูปล่าช้า
ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ท่านตั้งสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) แล้วต่อมาท่านก็ไปยุบเขาเสีย มาตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.) ขึ้นมา ซึ่งหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว สปท.ก็จะเหลือเวลาอีก 120 วัน ในการทำงาน เพราะฉะนั้นพอมีกรอบเวลาอย่างนี้ กลไกหลักที่ตั้งมาแล้วคือสปท.จะต้องประสานกับป.ย.ป. เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับปั๊บ พ.ร.บ. 2 ฉบับที่ทางสปท.ต้องทำก็คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ มันเป็นเงื่อนงำประหลาดนิดหนึ่งคือ เมื่อคสช.และหลายฝ่ายเมื่อเสนอเข้ามาสู่ที่สปท. ว่าต้องการปฏิรูปประเทศเป็นไปโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
ทีนี้เรื่องการปฏิรูปประเทศนับแต่สปช.ได้ทำรายละเอียดมาแล้วระดับหนึ่ง หลายเรื่องตกผลึกจนพร้อมนำมาปฏิรูปประเทศได้ ปรากฎว่าท่านขอให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทีนี้เมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังไม่ออก แล้วจะไปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไร

ตอนนี้มาตกหนักที่ 19 เดือนที่เหลือนี้ ยุทธศาสตร์ชาติต้องทำให้เห็นชัดเจนก่อน เพื่อจะได้ปฏิรูปได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาตินั้น ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญไม่เป็นไร แต่เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ระบุให้การปฏิรูปต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทีนี้ท่านต้องไปออกยุทธศาสตร์ชาติ

สมมุติว่าออกได้แล้ว ใน 19 เดือนต้องถือว่าเราเสียไปอีก 3 เดือนแล้วเพื่อไปเขียนเป็นกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะเหลือเวลาให้อีก 16 เดือน ใน 16 เดือนนี้กว่าที่เราจะตั้งโจทย์การปฏิรูป ซึ่งหลายเรื่องต้องใช้เวลาเช่น การปฏิรูปการศึกษา เราบอกว่าจะปรับปรุงกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงหลักสูตรทั้งระดับประถมศึกษา มัธยม อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ไม่มีทางทำได้เสร็จใน 16 เดือนแน่ แม้แต่ 3-5 ปีก็ยังไม่แน่ว่าจะทำได้

+แนะปฏิรูป4เรื่องเร่งด่วน
เวลา 19 เดือนก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องทำออกมาให้ได้คือ หาว่าการปฏิรูปอะไรที่ทำเร่งด่วนได้ และในภาวะเร่งด่วนนั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำเป็นเบื้องต้นไป ตัวอย่างเช่นปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยังมีความล่าช้าอยู่ในศาลอะไรบ้าง การปล่อยตัวชั่วคราวหรือที่เราเรียกกันว่าประกันตัวนั้น ยังมีอะไรที่ติดขัดอยู่หรือไม่ คนที่ควรได้รับการประกันตัวกลับไม่ได้รับประกันตัว คนที่ไม่ควรได้รับการประกันตัวได้รับการประกันตัวไปหรือเปล่า ปัญหาเกิดจากตรงไหน

ปฏิรูปตำรวจ ประเด็นไหนที่จะสามารถปฏิรูปตำรวจเป็นเบื้องต้นไปก่อนมีอะไรบ้าง เรื่องการเลื่อนตำแหน่ง เรื่องการพิจารณาตำแหน่ง เรื่องการสืบสวน เรื่องการสอบสวน อะไรเหล่านี้ทำก่อนเป็นเบื้องต้น

หลังจากนั้นสิ่งที่จะต้องทำระยะกลาง อันนี้ต้องไปฝากไว้กับสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หลังการเลือกตั้ง คือ 15 วันก่อนจะได้ส.ส. เราจะได้ส.ว.มา ตามรัฐธรรมนูญ ส.ว.จะเป็นคนที่ดำเนินการเรื่องการปฏิรูป ไม้นี้แหละที่ได้ปฏิรูปในระยะเร่งด่วนไว้ต้องส่งต่อให้กับวุฒิสภา วุฒิสภาต้องไปทำหน้าที่ต่อ เรื่องนี้คือหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของวุฒิสมาชิก

เมื่อถามว่า 19 เดือนช่วงรอยต่อนี้ การปฏิรูปที่ควรทำให้เห็นผลนอกจากเรื่องกระบวนการยุติธรรม ปฎิรูปตำรวจแล้ว ควรต้องทำเรื่องอะไรอีก ดร.เจษฎ์ ตอบว่า เรื่องการสาธารณสุข ที่เราบอกว่ามีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรามีกองทุนอื่นอีกหลายกองทุน คนก็บ่นกันมานานแล้ว เรื่องการประกันสุขภาพแล้วคนที่เป็นผู้ประกันตน ถ้าได้พื้นฐานเท่ากับประกันสุขภาพทั่วไป แล้วเขาต้องจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนอีกทำไม ประกันสุขภาพ เราต้องการให้ข้าราชการทำงานด้วยความขยันซื่อสัตย์สุจริต เงินเดือนก็น้อย ถ้าเราไม่ดูแลบุพการีเขา ลูก ๆ ตัวเขาและคู่สมรส แล้วเราจะให้เขาวิริยะอุตสาหะทั้งที่เงินเดือนน้อยโดยไม่โกงไม่กิน ก็ต้องคลี่คลายเรื่องเหล่านี้

เรื่องการศึกษาเล่าเรียน ผมตรวจสอบมาหลายโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนรัฐโรงเรียนหลวง ที่บอกว่าไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐธรรมนูญเขียนมาตั้งแต่ปี 2540 ว่ารัฐจัดให้ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีมาตรา 44 ออกมาว่าจะปฎิรูปการศึกษา เรื่องเรียนฟรีไม่เก็บค่าเล่าเรียน แต่ทุกโรงเรียนเก็บกันหมดเลย แต่ไปเรียกเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ กัน นั่นแปลว่าให้เรียนฟรีไม่เก็บค่าใช้จ่าย 9 ปี 12 ปี ไม่เป็นจริงเลย

อันนี้มันต้องทำให้ชัดเจน เพราะถ้าปล่อยให้ไปถึงมือส.ว.หรือส.ส. อำนาจในการจัดการที่แท้จริงจะไม่มี แล้วเขาไม่กล้าไปจัดการกับโรงเรียนโดยตรงเพราะกลัวจะเสียคะแนนเสียง เพราะฉะนั้น นี่คือเรื่องที่คสช.ต้องรีบทำ เพราะเป็นช่วงเร่งด่วน แต่เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องระยะยาว เช่น ปฏิรูปกระทรวงศึกษาฯทั้งกระทรวง ปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขทั้งกระทรวง หรือปฏิรูปสำนักงานตำรวจทั้งประเทศ อันนี้ต้องใช้ระยะกลางและยาว ไม่ใช่จะทำได้ในช่วงสั้น ๆ

**ไม่เร่งปฏิรูปบ้านเมืองไปไม่ไหว
ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นถ้านับระยะเวลา 16 เดือน ก็ต้องบอกว่าเมื่อรัฐธรรมนูญออกก็บัญญัติไว้แล้วว่า ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งในเรื่องการโยกย้าย ก็ต้องใช้ระบบอาวุโสอย่างเดียว ถ้ายังไม่เขียนเรื่องปฎิรูปตำรวจภายใน 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญออก ท่านต้องใช้ระบบอาวุโสอย่างเดียวเลย ดังนั้น ก็ต้องรีบถ้าอยากจะได้กลไกที่ชัดเจนที่ไม่ใช่แค่เรื่องอาวุโส อาจจะเป็นเรื่องของความเหมาะสมในเรื่องของการทำงาน อาจเป็นเรื่องความรู้ความสามารถที่มีมาแต่เดิมไม่เกี่ยวกับอาวุโส แต่ถ้าไม่สามารถปฏิรูปตำรวจออกมาได้ภายในกำหนด ก็ต้องใช้ระบบอาวุโสอย่างเดียวเลย รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

เรื่องกระบวนการยุติธรรม การจะพิจารณาอะไรต้องมีคณะกรรมการ รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ เรื่องเศรษฐกิจก็มี ต้องไปดูที่ว่าจะทำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องไปดูว่าทำได้กี่มากน้อย จะปฏิรูปกันขนาดไหน ที่เราเรียกว่าศาสตร์พระราชา ได้มีการประยุกต์เอามาใช้ปฏิรูปประเทศ แล้วเกิดสัมฤทธิผลตามที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงวางรากฐานไว้หรือไม่

“สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญทั้งสิ้นในระยะต้น เพื่อจะไปต่อไม้ในระยะกลางให้กับส.ว.ได้ ท่านก็เขียนเองประชาชนก็ผ่านประชามติมา ให้ส.ว.มาอยู่ 5 ปีมาทำงานปฎิรูป อันนี้เป็นระยะกลางแล้ว ถ้าลองบวกเวลาดู เวลา 19 เดือนก่อนเลือกตั้ง บวกกับอีก 5 ปี รวมเป็นเกือบ 7 ปี ระยะ 7 ปีถ้าไม่พ้นระยะกลางยังเป็นระยะเริ่มต้น คืบคลานกันอยู่อีก บ้านเมืองไม่ไหวแล้ว ยิ่งพอพ้นจากส.ว.ที่คสช.ตั้งมาชุดแรก 5 ปีไปแล้ว มันต้องเข้าสู่ช่วงปลายของการปฎิรูปชุดนี้แล้ว”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,260 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560