"ครม." ไม่อนุมัติซื้อรถเกราะ 34 คัน สตง.ยันทร.ใช้งบเหมาะสมซื้อเรือดำน้ำ

09 พ.ค. 2560 | 09:46 น.
วันที่ 9 พ.ค. 60 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ไม่ได้มีการพิจารณาอนุมัติซื้อรถเกราะล้อยาง vn-1 จากจีนจำนวน 34 คัน วงเงิน 2 พันล้านบาทแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดถือเป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ถ้าหากจะซื้อตามแผนพัฒนากองทัพก็ให้ไปว่ามา แต่ขณะนี้ยังไม่มี แล้วไม่ใช่ขั้นตอนจะซื้อจากใคร เพราะต้องมีการพิจารณาเยอะแยะไปหมดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่รับผิดชอบ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการซื้อยานเกราะล้อยางแบบ VN1 หรือ ZBL-09 จำนวน 34 คันว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มาถึงตน ซึ่งตนคือปลายเหตุ ยืนยันเรื่องนี้ยังไม่ผ่านตน ซึ่งรายละเอียดต้องไปถามกองทัพบก ขณะที่เรื่องศูนย์ซ่อมสร้างจะดูแลเรื่องการซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์หลายเรื่องเพื่อพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆของกระทรวงกลาโหม

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นร้องคัดค้านการซื้อเรือดำน้ำ ของกองทีพเรือ โดยระบุว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่ เพราะผ่านครม.เรียบร้อย อีกทั้งกองทัพเรือได้ตรวจสอบทุกขั้นตอน รวมถึงดูเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแล้ว ที่ระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการคิดเอาเอง ที่จริงการซื้ออย่างอื่นแพงกว่าเรือดำน้ำเหตุใดไม่พูดถึง พูดกันแต่เรื่องเรือดำน้ำซึ่งเป็นการพัฒนากองทัพให้เข้มแข็ง ตนมองว่าประชาชนไม่ค่อยเข้าใจ เรื่องนี้คงเป็นของแปลกใหม่ที่คัดค้านกันมา 20 ปี และได้ผล แต่ครั้งนี้กองทัพเรือทำมาอย่างเรียบร้อย เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ใช้งบกลาง ใช้งบประมาณของตัวเอง โดยทยอยซื้อครั้งละ1ลำเพราะไม่มีเงินที่จะซื้อครั้งเดียว 3 ลำ
"แต่พวกเขาอยากได้และตนก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเป็นงบประมาณของกองทัพเรือ ตนมองว่า ผู้สื่อข่าวยุ่งยากมากกว่า ถามซ้ำซ้อน เมื่อมีคนไปยื่นเรื่องก็ยื่นไป สื่อจะไปสนใจทำไมคนๆเดียว เพราะยื่นไปกองทัพเรือสามารถตอบได้หมดในทุกเรื่อง พวกเขานั่งเรียงให้คนถาม 20-30 คน ก็ไม่เห็นใครถาม"พล.อ.ประวิตร กล่าว
ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนของกองทัพเรือว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฎ ยังไม่พบนัยยะสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งการซื้อเรือดำน้ำได้มีการริเริ่มมาหลายรัฐบาล ไม่ใช่ริเริ่มจากรัฐบาลนี้ โดยมีการเปรียบเทียบหาข้อมูลมาจากหลายประเทศ จนกองทัพเรือเห็นว่าควรเลือกเรือดำน้ำของประเทศจีน
"ส่วนการตรวจสอบเราจะแบ่งเป็นในส่วนของยุทโธปกรณ์และส่วนของลำเรือ เรื่องของยุทโธปกรณ์หรืออาวุธ เราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เราจะเข้าไปตรวจสอบเฉพาะเรื่องของลำเรือว่าเหมาะสมในเรื่องการใช้จ่ายหรือไม่"นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องงบประมาณ 36,000 ล้านบาทนั้น มีความเหมาะสม เพราะเป็นภาระผูกพันถึงปี 2566 และมีการจ่ายเงินแต่ละงวดอยู่ที่ 700 - 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินเงินงบประมาณและเป็นงบประมาณปกติของกองทัพเรืออยู่แล้ว ไม่ได้เบียดเบียนงบกลาง ไม่ถือเป็นภาระ และเรื่องงบประมาณในส่วนของบุคลากร ซึ่งก็ถือว่ามีความจำเป็น เพราะเมื่อไปรับเรือ ต้องใช้บุคลากรของเราไปขับกลับมา จึงต้องมีการฝึกอบรม ถือว่าเป็นข้อดีเป็นประโยชน์ ทั้งนี้การทำจีทูจี การกำหนดให้เป็นการซื้อขายเป็นรัฐต่อรัฐ ก็เป็นผลดีต่ออนาคต เพราะจะมีหลักประกัน ที่รัฐบาลจีนจะเข้ามารับผิดชอบดูแล รับประกันในเรื่องอะไหล่ ยุทโธปกรณ์ และเมื่อตรวจสอบหลักฐานไม่พบบริษัทคนกลางมาซื้อขาย


นายพิศิษฐ์ กล่าวถึงกรณีข้อสังเกตุว่าการจัดซื้อครั้งนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ต้องนำเรื่องเข้าพิจารณาผ่านรัฐสภาก่อนหรือไม่ว่า ในเรื่องนี้ต้องมาดูเปรียบเทียบว่าที่ผ่านมามีการดำเนินการไว้อย่างไร การทำจีทูจีกับการทำสนธิสัญญาเหมือนกันหรือไม่ รัฐธรรมนูญทุกคนมีสิทธิตีความ แต่จะตีความเองไม่ได้ เพราะสุ่มเสี่ยง จึงต้องมาดูที่ผ่านมาดำเนินการอย่างไร แต่เบื้องต้น เชื่อว่าหากเป็นลักษณะจีทูจี ก็ไม่น่าเข้าข่ายสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
"อย่างไรก็ตามสตง.จะยังตรวจสอบติดตามการทำสัญญาและเบิกจ่ายเงินต่อไป หากพบว่ามีการใช้จ่ายเงิน ที่ทำให้เกิดความเสียหาย สตง.ก็มีอำนาจขอให้กองทัพเรือ รัฐบาลทบทวน ปรับลด หรือ แก้ไขสัญญาได้"