โขกดอกไซส์เล็ก คิดขาใหญ่ 2%

13 พ.ค. 2560 | 12:01 น.
โขกดอกไซส์เล็ก คิดขาใหญ่ 2%

--13 พ.ค.60-- หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป ฉบับที่ 3261 วันที่ 14-17 พ.ค.2560รายงานว่า ขุนคลังเปิดแผลแบงก์ชาติ ปล่อยแบงก์โขกดอกเบี้ยเอสเอ็มอี สั่งลดด่วน “วิรไท” สวมบทเตย์มีใบ้ แบงก์แบ่งรับแบ่งสู้ อ้างกลไกตลาด แข่งเดือดชิงลูกค้ารายใหญ่ จึงต้องประเคนดอกเบี้ยเงินกู้แค่ 2%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก เอสเอ็มอีที่ถูกคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงลิ่ว

รมว.คลัง กล่าวว่า ส่วนต่างดังกล่าวสูงถึง 5-6% เพราะเอสเอ็มอีถูกมองว่าเสี่ยงมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 7-8% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ธนาคารกลับคิดเพียง 1% กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนต่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

“หากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในของทั้ง 2 กลุ่มยังห่าง 5-6% จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เอสเอ็มอีจะแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ ขอให้สถาบันการเงินกลับไปพิจารณาว่าจะมีแนวทางที่ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยใน 2 ธุรกิจมีความใกล้เคียงกัน”

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์โดยตรงปฏิเสธที่จะกล่าวถึงข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะที่ประธานสมาคมไทยและกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย นายปรีดี ดาวฉาย กล่าวว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด ธนาคารอยากจะปรับลดแต่ต้องดูตลาดด้วย

“ดอกเบี้ยของไทยไม่ได้สูงปรี๊ดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราต้องดูปัจจัยต่างประเทศด้วย”

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และอดีตประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าส่วนต่างดอกเบี้ยไทยตํ่าอยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่รายหนึ่ง กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารหลายแห่งเสนออัตราดอกเบี้ยแก่ลูกค้าใหญ่ 1-2% เนื่องจากสภาพการแข่งขันที่รายใหญ่มีอำนาจต่อรองมากกว่า หากธนาคารไหนปฏิเสธสินเชื่อก็จะหันไปกู้ที่อื่น หรือเลือกที่จะไปกู้ผ่านหุ้นกู้ หรือออกตั๋วบี/อีแทน สเปรดหรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ จากข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์รายงานธปท.ในไตรมาส 1/2560 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยทั้งระบบอยู่ที่ 0.95% ลดลงต่อเนื่องจาก 1.2% ในไตรมาส 4 ปี 2558 และ 0.97% จากไตรมาส 4/2559 ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่อยู่ระหว่าง 6.25-6.5% และรายย่อย 7.620-8.00%

ขณะที่สินเชื่อคงค้างสิ้นสุดไตรมาสแรกยอดรวมอยู่ที่ 13.74 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจ5.74 ล้านล้านบาท และบุคคลธรรมดา4.92ล้านล้านบาท โดยในส่วนธุรกิจนั้นเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีถึง 4.53 ล้านล้านบาท

ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2560 มีรายได้ดอกเบี้ยรวม 1.62 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดย 1.29 แสนล้านบาท มาจากดอกเบี้ยที่ให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 2.75% ตํ่าสุดอยู่ที่ 2.35% คือธนาคารกรุงเทพ และสูงสุด 5.2% คือธนาคารเกียรตินาคิน