กฟผ.เดินหน้าโซลาร์ฟาร์มทับสะแก

15 พ.ค. 2560 | 09:24 น.
กฟผ. เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับนโยบาย Energy 4.0

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 กฟผ.ได้ทำพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทับสะแกและศูนย์การเรียนรู้ทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสนองตอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ AEDP2015 และเป็นโครงการที่ กฟผ. ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน

โดยในอนาคต กฟผ. จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาผลิตไฟฟ้าด้วยการพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบผสมผสานโดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบ Hybrid และการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) มาใช้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้นเพื่อสนองตอบนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำมาติดตั้ง ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์

ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโครคริสตอลไลน์อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์อินเดียมแกลเลียมไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2 – 4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่

โดย กฟผ. จะทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิดว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป