"มีชัย"ขอคนอื่นประเมิน 3 ปีคสช. สปท.ส่งต่อร่างกม.ไซเบอร์ฯเเล้ว

15 พ.ค. 2560 | 09:36 น.
วันที่ 15 พ.ค.60-นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ…ว่า สาระสำคัญไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอะไร และเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ตัวแทนศาลอาญามาให้ข้อมูล โดยได้มีข้อเสนอเพิ่มเข้ามาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในลักษณะไต่สวนคือการเขียนให้ละเอียดขึ้น เพื่อไม่ให้มีการแพ้ชนะด้วยกลวิธี ซึ่งหมายความว่าถ้าจะแพ้หรือจะชนะขอให้ไปดูข้อเท็จในข้อกฎหมาย ไม่ใช่ไปดูกระบวนพิจารณาคำตกหล่นแล้วก็แพ้ชนะกันไป

 

"เช่น ให้มีการยื่นคำให้การภายใน 7 วัน แต่ไม่ได้ยื่นภายใน 7 วันแล้วก็แพ้ไป ซึ่งก็น่าจะดีกว่า โดยกรธ.จะได้มาพิจารณาทบทวนกัน และเมื่อเสร็จก็จะได้ส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป โดยจะเป็นร่างกฏหมายลูกฉบับที่ 3 ที่ทางกรธ.ส่งไปให้สนช.ด้วย"

 

เมื่อถามว่า ในโอกาสครบ3 ปี ของคณะคสช.(วันที่22พ.ค.)ประเมินการทำงานอย่างไรบ้างหรือไม่ นายมีชัย กล่าวสั้นๆว่า “ไม่เหมาะสมที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะอยู่ในคสช. ควรให้คนอื่นเป็นคนมองจะดีกว่า”

 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า วันนี้มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน เรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ที่มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน

 
สาระสำคัญคือ การวางมาตรการรับมือและป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การสื่อสาร โทรคมนาคม และดาวเทียม หากเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อระบบดังกล่าว

 

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกมธ. ชี้แจงว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ สาธารณูปโภค ดาวเทียมฯลฯ ถือเป็นภัยคุกคามใกล้ตัว ทั้งในส่วนบุคคล ภาครัฐ เอกชน สร้างความเสียหายมาก กมธ.จึงศึกษาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมนำร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากครม. มาพิจารณา และมีข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไข เช่น การแก้ไขคำจำกัดความของไซเบอร์ให้กว้างขวาง ครอบคลุมความมั่นคงของชาติในทุกมิติทั้งด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภค ระบบกิจการสาธารณะเช่น ระบบขนส่ง ถือเป็นเครือข่ายระดับประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

 

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังเสนอแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(กปช.)จากเดิมให้รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน เปลี่ยนมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรมว.กลาโหม รมว.ดีอี เป็นรองประธาน เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน

 

"การให้นายกฯหรือรองนายกฯเป็นประธานกปช. เพื่อให้กำหนดทิศทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ เพราะนายกฯหรือรองนายกฯมีอำนาจกำกับดูแลทุกระทรวง ทบวง กรม ขณะที่สำนักงานกปช. ที่ร่างเดิมมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แก้ไขเป็น ให้เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการขับเคลื่อนสั่งการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยกปช.มีอำนาจกำกับดูแล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สามารถสั่งการหน่วยงานราชการ เอกชน ให้กระทำการหรือยุติการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ รวมทั้งมีอำนาจการเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนได้ เมื่อเกิดเหตุที่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์"พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

 

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลของภาครัฐและเอกชนที่เกรงว่า การเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของกปช.จะกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น ได้มีการแก้ไขให้การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายในคำสั่งศาล ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหากไม่ดำเนินการอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการอนุมัติของกปช.ดำเนินการเข้าถึงข้อมูลได้ และรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว

 

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก้ไขให้มีโทษทางอาญาโดยเจตนาด้วยจากเดิมมีแค่โทษทางวินัยแก่หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ปฏิบัติตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และเพื่อให้ทันต่อภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคต ได้เสนอให้รัฐบาลเสนอร่างดังกล่าวต่อสนช.เพื่อให้ประกาศใช้โดยเร็ว แต่ในระหว่างนี้กมธ.เสนอให้นายกฯใช้อำนาจ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือมมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้ง กปช.ขึ้นมาทำหน้าที่ก่อน และเมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ให้โอนกิจการทั้งปวงของกปช.ที่ตั้งขึ้นไปเป็นของกปช.ชุดใหม่ เสมือนเป็นการทำงานของกปช.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น สมาชิกสปท.ได้อภิปรายแสดงความเห็น ส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องการกำหนดคำนิยาม “ไซเบอร์”ที่กว้างเกินไป และการมีอำนาจสั่งการให้เอกชนต้องปฏิบัติตาม อาจก้าวล่วงไปถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 
โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท.กล่าวว่า กมธ.กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “ไซเบอร์” ไว้กว้างเกินไป โดยเฉพาะมาตรา 44(3) เรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเลกทรอนิกส์ หรือดำเนินการตามมาตรการเหมาะสม แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากศาล ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ที่ให้กปช.ดำเนินการไปก่อน แล้วค่อยรายงานให้ศาลทราบโดยเร็วนั้น หมายความว่า นอกจากจะให้มีอำนาจดักฟังได้แล้ว ยังให้ดำเนินการตามมาตรการเหมาะสมได้อีก

 

นายคำนูณกล่าวว่า ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า การที่กปช.มีอำนาจสั่งการครอบคลุมไปถึงเอกชนได้ด้วยนั้น จะมีหลักประกันอย่างไรว่า อำนาจเหล่านี้จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จึงควรระบุให้ชัดเจนว่า อำนาจเหล่านี้จะไม่ก้าวล่วงไปถึงเนื้อหาในการแสดงออกของประชาชน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกสปท.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าว จากนั้นจะส่งรายงานให้ครม.และคณะกรรมการกฤษฏีกาประกอบการพิจารณาต่อไป