"ประยุทธ์" เตรียมใช้ ม.44 เเก้ 4 ปัญหา

16 พ.ค. 2560 | 09:52 น.
วันที่ 16 พ.ค.60 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมร่วม ครม.กับ คสช. ว่า 1.คสช.เห็นชอบในหลักการของคำสั่ง คสช.เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาในภาคเอกชนของไทยยังมีปัญหาที่บางสาขาไม่สามารถเปิดให้บริการได้จึงจะมีการชักชวนสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเพื่อมาเติมเต็ม โดยจะเน้นในสาขาที่เราขาดแคลน และจะเน้นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงซึ่งสามารถตอบรับกับการศึกษากับประเทศเราได้ ทั้งนี้จะประกาศเรื่องการจัดการศึกษาในสาขาที่จะมาจากต่างประเทศให้รับทราบเพื่อให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้ามาได้ โดยจะมีคณะกรรมการในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาช่วยจัดการเรื่องการศึกษา อย่างไรก็ตามสถาบันศึกษาจากต่างประเทศที่จะเข้ามาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และตามที่เราพิจารณาว่าเหมาะสมที่ต้องตอบรับกับการพัฒนาประเทศของเราด้วย

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า 2.การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา เช่น อาชีวะ ซึ่งในส่วนนี้เราจะมีมาตรการที่เข้มกว่าระดับอุดมศึกษาขั้นต้น เพื่อจะได้ไม่เป็นคู่แข่งขันของสถาบันการศึกษาของเราเองในประเทศ

3.การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซึ่งในส่วนนี้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกรซึ่งมีคณะกรรมการอยู่ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู คณะกรรมการบริหารกองทุน และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรดูแลอยู่ แต่จากการสำรวจเกษตรกรยังมีหนี้สินอยู่ 15,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในช่วงกำลังจะถูกบังคับคดี วันนี้คสช.จึงเห็นชอบหลักการควรให้คณะกรรมการทั้ง 3 คณะจบภารกิจไป และจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาใหม่ 1 คณะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้ไปศึกษาจุดอ่อนของกฎหมายฉบับเดิมที่มีอยู่เพื่อเสนอครม.ให้แก้ไขในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานเบื้องต้น 6 เดือน และหากยังดำเนินงานไม่แล้วเสร็จก็สามารถขอขยายระยะปฏิบัติจากครม.ได้ โดยคำสั่งดังกล่าวในเร็วๆ นี้

และ 4.เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคสช.ฉบับที่ 23 เรื่องการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าสตง. โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะครบวาระพร้อมกันในเดือนกันยายนนี้ จากเดิมฉบับที่ 23 ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหาภายใน 15 วันและสรรหาให้ได้ภายใน 180 วัน และการสรรหาจะต้องมีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการสรรหาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกำหนดเวลา 15 วัน กระทั่งตอนนี้ยังหาคนจะมาทำหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการสรรหาออกไป เพื่อที่จะหาผู้ที่มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้จะระบุให้ชัดเจนถึงกรณีที่องค์กรอิสระส่งตัวแทนเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาจะต้องเป็นองค์อิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการที่มาสรรหา และการสรรหาภายใน 180 วันที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่มีประกาศคำสั่งคสช.ฉบับที่ 23 แต่คตง.อาจตีความไม่ตรงกันจึงต้องเขียนให้ชัดเจน