รัฐประหารเสียของ ? วิพากษ์3 ปี‘ปรองดอง-ปฏิรูป’

19 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
ตลอด 3 ปีของคณะรักษาความแห่งชาติ (คสช.) ที่จะครบรอบในวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. กำหนดภารกิจหลักไว้ 3 ประการ คือ 1.การสร้างความปรองดอง 2.การปฏิรูปประเทศ และ 3.การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งภารกิจสำคัญดังกล่าว คสช.ยืนยันทุกอย่างเดินตามโรดแมปและพยายามสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติตามที่ได้ประกาศไว้

 คสช.ระงับเหตุรุนแรงสำเร็จ
ในสายตาของนักวิชาการมองการบริหารงานของ คสช. ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองถึงจุดกำเหนิดของ คสช.ว่า การมาของ คสช.ก็เพื่อมารักษาความสงบเรียบร้อย สามารถยุติม็อบ 2 ฝ่ายตั้งแต่ปลายปี 2556 ได้สำเร็จ

“ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายรุนแรง คสช.ก็ตัดสินใจทำรัฐประหารเพื่อยุติปัญหา ในคำแถลงของ คสช.ที่ทำรัฐประหาร จะเห็นได้ว่า เขาต้องการปกป้องสถาบันไม่ให้ถูกดึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้น 3 ปีนี้ คสช.ทำตรงนี้ได้

ส่วนประเด็นการสร้างปรองดอง นายไชยันต์ กล่าวว่า ดูจากท่าทีของพรรคการเมืองที่เข้าไปร่วมประชุมกับกรรมการสร้างความปรองดอง จะเห็นว่าพรรคเอสเอ็มอี(พรรคขนาดกลาง) ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย เปิดไฟเขียวยินดีร่วมปรองดองกันเต็มที่ แม้กระทั่งการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดก็ยินดีปรองดอง เหลือเพียง 2 พรรคใหญ่ พรรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชัดเจนเรื่องนี้ ไม่นับรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง

 ยังห่วงเรื่องคอร์รัปชัน
ส่วนประเด็นปฏิรูปประเทศ ในแง่นโยบายการรณรงค์ การบังคับใช้กฎหมาย โฟกัสไปที่การใช้ มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ช่วงหลังที่ต้องใช้พร่ำเพรื่อเพราะประชาชนทำให้ต้องใช้ การใช้อำนาจเผด็จการ คือการลงโทษประชาชนที่ห่วยแตก ประชาชนไม่รู้จักเคารพกฎหมาย พอถึงเวลาบังคับใช้กฎหมายต้องใช้ยาแรง ทำให้ดื้อยา ทำให้อำนาจอันชอบธรรมก็จะหมดสิ้นไป ทุกวันนี้เหมือนกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ มันเป็นขนมพอสมน้ำยา

นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากรั่วจุฬาฯ ยังประเมิณการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของ คสช.ว่า ทำได้ดีขึ้นในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีข้อครหาเกี่ยวกับกองทัพ โดยเฉพาะที่โยงใยกับญาติ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจว่ามีการปราบคอร์รัปชันเฉพาะคนที่ไม่ใช่พวกของตนเองหรือไม่

 สอบตก“ปรองดอง”
ขณะที่มุมมองของ นายทวี สุรฤทธิกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ประเมิณผลงาน คสช.ว่าถ้าเปรียบกับการเป็นนักศึกษา น่าจะได้เกรดบี คือพอใช้ได้ ในมาตรฐานที่ประชาชนคาดหวัง ซึ่งที่จริงน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เพียงแต่มีปัญหาเยอะมาก

ส่วนเรื่องปรองดอง มองว่าน่าจะสอบตกด้วยซ้ำ เพราะการสร้างความปรองดองเป็นเหตุผลของการทำรัฐประหารข้อแรก ถ้าการปรองดองไม่สำเร็จ จะทำให้การเลือกตั้งที่เคยวางโรดแมปไว้ก็จะเลื่อนอออกไปเรื่อยๆ ในส่วนของการปฏิรูป เป็นแนวคิดที่ดี ถ้าปฏิบัติได้ จะเป็นการสร้างประเทศไทยขึ้นมาใหม่ แต่แนวคิดแบบนี้ หลายปีที่ผ่านมาก็มีความคิดนี้มาตลอด ตั้งแต่ปี 2540

“ผมมองว่าการปฏิรูปครั้งนี้เป็นภาพลวงตา ที่เขียนไว้สวยหรูแต่คงปฏิบัติไม่ได้ ในเชิงวิชาการผมให้คะแนนเรื่องเค้าโครง วิทยานิพนธ์ผ่าน แต่เมื่อเข้าไปถึงขั้นวิจัย ลงพื้นที่ปฏิบัติภาคสนาม เอานำไปใช้จริงๆ คสช.บอกขอเวลา 20 ปี ซึ่งมันมากไป มันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ปฏิรูปได้เร็ว เช่น ปฏิรูปตำรวจ ก็ยังไม่ได้ทำ ปฏิรูปภาษีมรดกที่ดิน ยังดูหน่อมแน้ม กล้าๆกลัวๆ ทำแค่พอสังเขป ไม่พอสมควร ปฏิรูปเรื่องการศึกษา ก็ไปไม่ถึงไหน ปฏิรูปพลังงานก็ยังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปถึงไหน เรื่องปฏิรูปสุขอนามัย ตอนนี้เรื่องพยาบาลก็มีปัญหา รัฐบาลยังซื้อเวลา เป็นต้น

 หวั่นคสช.มีศัตรูเพิ่มขึ้น
เรื่องการปราบปรามคอร์รัปชัน นายทวี มองว่า มีประเด็นที่ทำให้คนคลางแคลงใจเยอะ ตั้งแต่กรณีอุทยานราชภัฏที่หัวหิน มาจนถึงเรือดำน้ำ และกำลังมีอะไรอื่นๆ อีกมากในกองทัพ เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ แต่ก็อาศัยว่าภาพดี ที่คสช.ไม่มีคอร์รัปชัน เพราะกระทรวงที่คสช.แต่งตั้งรัฐมนตรีไปดูแลยังไม่มีข่าวฉาวโฉ่อะไร เพราะกระทรวงอื่นไม่มีภุมิคุ้มกันที่ดี เหมือนกองทัพ และที่สำคัญเป็นสถาบันที่คนยังหวังพึ่ง ยังอยากให้ดูแลประเทศไปอีกระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องปราบคอร์รัป ให้คะแนนดีที่สุดในบรรดา 3 เรื่อง ที่เป็นภาระกิจใหญ่ๆ ของ คสช.

“ช่วงเวลาที่เหลือ คสช.จะอยู่ได้หรือไม่ ถ้าเทียบ 2 ปี เมื่อปีที่ผ่านมา มันน่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะศัตรูคู่ขัดแย้งของรัฐบาล นอกจากระบอบทักษิณ ยังมีฝ่ายอื่นโดยเฉพาะฝ่ายที่อยากให้มีการเลือกตั้ง ที่เคยเชียร์คสช.ก็อยากให้มีเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคบอกว่าถ้าไม่มีเลือกตั้งประชาชนเดือดร้อนแน่ สะท้อนว่า คสช.จะมีศัตรูเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีแค่ระบอบทักษิณ” นายทวี ทิ้งปมในตอนท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560