ค่าสมาชิก-ทุนประเดิมพรรคปมร้อนรอ‘สนช.’ เคาะ

22 พ.ค. 2560 | 06:00 น.
[caption id="attachment_152114" align="aligncenter" width="503"] TP14-3263-c ค่าสมาชิก-ทุนประเดิมพรรคปมร้อนรอ‘สนช.’ เคาะ[/caption]

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว มีสมาชิก สนช.เสนอแปรญัตติแก้ไขเนื้อหาหลายประเด็น โดยประเด็นไฮไลน์ที่มีการเสนอทบทวน มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เสนอแก้ไขทุนประเดิมพรรคการเมือง2.การจ่ายค่าสมาชิกพรรค และ 3.ที่มาของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขั้นตอนต่อไป กรรมาธิการฯ จะเชิญผู้ขอแปรญัตติเข้าชี้แจงต่อไป

+ลดทุนประเดิมพรรค5แสน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในรายละเอียดของ 3 ประเด็นหลักที่มีผู้เสนอญัตติว่า ในประเด็นแรกเรื่อง ทุนประเดิมพรรค จากเดิมในร่างเดิมกำหนดไว้ให้มีจำนวน 1 ล้านบาท สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าจะทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยลำบาก จึงเสนอความเห็นว่าควรลดเหลือเงินทุนประเดิมพรรค 5 แสนบาท

ประเด็นที่ 2 เรื่องที่สมาชิกต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคการเมือง ทางกรรมาธิการฯ สรุปเป็น 3 แนวทางคือ 1.คงไว้ตามร่างเดิมคือ จ่ายไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท 2.ให้แก้ไขเป็นจ่ายไม่เกิน 100 บาท และ 3.ให้เขียนในบทเฉพาะกาลว่า ปีแรกสมาชิกไม่ต้องจ่าย เพื่อให้พรรคได้ตั้งตัว แต่เมื่อพ้นไป 1 ปีจะเก็บอย่างไร ทางกรรมาธิการฯจะกำหนดจำนวนเงินอีกครั้ง

ส่วนประเด็นที่ 3 เรื่องที่มาของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร่างเดิมกำหนดให้เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรรคเป็นผู้พิจารณา แต่แนวโน้มที่กรรมาธิการฯยังเถียงกันอยู่คือ ทำอย่างไรจะให้สาขาพรรคการเมือง และประชาชนในจังหวัด กำหนดตัวผู้สมัครได้มากกว่ากรรมการบริหารพรรค เพราะถ้าคำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตย การพิจารณาน่าจะมาจากผู้แทนสาขาพรรค ซึ่งคาดว่าจะแก้ไข แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.)
+ ยุบพรรคส่งศาลรธน.ชี้ขาด
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็มีความเห็นต่างกันไป อาทิ การกำหนดประมวลจริยธรรมของพรรคการเมือง ในร่างเดิมเขียนว่าทุกพรรคการเมืองต้องออกข้อบังคับพรรค แต่กรรมาธิการฯ เห็นว่าแต่ละพรรคอาจจะออกข้อบังคับมากน้อยต่างกัน ซึ่งจะมีความหลากหลายมาก เมื่อไปสู่กรรมการบริหารพรรค มาตรฐานน่าจะใกล้เคียงกัน คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคส่วนหนึ่งก็มาเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.อยู่แล้ว หรือเป็นรัฐมนตรีก็มี อย่างน้อยคุณสมบัติต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์การเป็นส.ส.อยู่แล้ว รวมทั้งประเด็นให้กำหนด “นิยาม” ของคำว่าพรรคการเมือง ก็ยังค้างอยู่ มีทั้งเห็นว่าไม่ต้องกำหนดก็ได้เพราะเข้าใจอยู่แล้ว และมีการเสนอแขวนไว้ก่อนว่าควรจะมีหรือไม่มี

ส่วนประเด็นยุบพรรคคงไว้เหมือนเดิม คือให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองในกรณีที่กระทำผิดกรณีกระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำผิดกฎหมายตามที่กำหนด เพราะดูแล้วมีเหตุผลพอสมควร สรุปโดยรวมแขวนไว้หลายมาตรา ค่อนข้างเยอะเพราะเป็นรายละเอียดที่สืบเนื่องกัน

+หนุนลดเงินตั้งพรรค
ด้านนายทวี สุรฤทธิกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า ในการประชุม กมธ.ได้แสดงความเห็นหลายเรื่อง ภาพรวมที่มีการแขวนและแสดงความเห็นมากคือค่าสมาชิกพรรค นอกจากนั้นมีประเด็นเงินทุนประเดิม ส่วนใหญ่อยากให้ลดลงมา เป็นจำนวนแสนบาท บ้างก็เสนอไม่ให้ระบุจำนวนเงิน บางคนเสนอไม่น้อยกว่า 1,000 บาทไปจนถึง 1 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งร่างเดิมกำหนดไม่เกิน 1 ล้านบาท เมื่อรวม 15 คนที่ก่อตั้งพรรครวมแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งกรรมาธิการฯขอลดด้วยลงมา 1 แสนบาท เพราะฉะนั้นผู้ก่อตั้งพรรค 15 คนก็อาจจะจ่ายคนละหมื่นบาท บางคนอาจจะจ่าย 1,000 บาท หรือ 2,000 บาท แล้วแต่กำลังใครจะจ่ายได้จำนวนเท่าใด เพราะเงินประเดิมมีเหตุผลเชื่อมโยงกับเรื่องการดำเนินกิจกรรมของพรรคด้วย เนื่องจากมีการจัดสรรเงินพัฒนาพรรคการเมืองให้อีก ถึงเวลาเลือกตั้งก็ได้รับบริจาคอยู่แล้ว

“เรื่องเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองแม้แต่ทางกรรมาธิการทั้งที่เป็นทหารก็อยากให้ลดลง แต่ทางตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมที่เป็นกรรมาธิการฯ 3 คนยืนยันที่จะขอให้เก็บ 1 ล้านบาทเหมือนเดิม โดยอยากให้เป็นพรรคใหญ่ และเป็นพรรคการเมืองที่จะทำงานเพื่อการเมืองอย่างจริงจัง ได้เป็นมาตรฐาน เพราะจะเชื่อมโยงกับทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่จะต้องให้ทุกพรรค”

+ ลดบทกำหนดโทษ
นายทวี ยอมรับว่า ตนเองอยู่ในฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรไปกำหนดชัดว่าเงินประเดิมพรรคควรจ่ายคนละเท่าไหร่ เพราะเห็นว่าควรจะแล้วแต่จิตศรัทธา หรือกำลังทรัพย์ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะไม่ต้องการให้นายทุนพรรคอาศัยเงินมาสร้างพรรค แต่ให้เก็บเหมือนเงินประกัน หรือเวลาไปสมัครงานก็ต้องจ่าย

“ทางสากล การรณรงค์หาเสียงเขาจะมีพวกผู้สนับสนุนหรือภาษาไทยเรียกว่าแม่ยก หรือสปอนเซอร์มาลงขันอีกที ทุนประเดิมพรรคไม่ควรจะมากเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นการจำกัดสิทธิของพรรคเล็ก ที่จะทำการเมืองเหมือนกัน อนาคตการเมืองสมัยใหม่ จะเป็นการเมืองที่จะมีความสนใจเฉพาะเรื่อง เช่น กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน เป็นต้น ไม่ใช่พรรคใหญ่ระดับชาติ แต่เป็นพรรคการเมืองเฉพาะกลุ่ม จึงไม่ควรไปจำกัดหรือปิดกั้นสิทธิของพรรคเล็ก”

ส่วนเรื่องบทกำหนดโทษซึ่งสำคัญมาก ทางพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยทุกมาตรา เพราะโทษแรง ทางกรรมาธิการฯ จึงเสนอลดหย่อนโทษลงมาอีกเป็นต้น

สำหรับไทม์ไลน์การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้พิจารณาเสร็จสิ้นทั้ง 142 มาตราแล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ จะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ที่มีการประชุมนอกสถานที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อลงมติในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

[caption id="attachment_152113" align="aligncenter" width="503"] องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)[/caption]

ปชป.รับลูกเก็บค่าสมาชิกพรรค
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า โดยหลักการเห็นด้วยกับการเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างหนึ่ง และเป็นการแสดงว่าเป็นเจ้าของพรรค แต่ในทางปฎิบัติต้องเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง ให้ปฎิบัติได้จริงตามกฎหมาย และทำให้เกิดมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้สร้างความเข้าใจกับประชาชน

“อุดมการณ์ทางการเมืองทุกคนมีได้ ไม่ว่าคนรวยคนจน ถ้าบอกว่าคุณไม่มีเงิน 100 บาท ไม่ควรมาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในทางประชาธิปไตยเราไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน แต่ในเมื่อทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ สนช.อยากให้เป็นไปในทิศทางที่อยากจะใช้การมีส่วนร่วมโดยการเก็บค่าสมาชิก เพราะฉะนั้นผมจึงอยากให้ทอดเวลาไปอีกระยะหนึ่งสัก 4 ปี และในช่วง 4 ปีนี้ก็อยากให้เป็นไปด้วยความสมัครใจเพื่อให้พรรคการเมืองและประชาชนได้ปรับตัว ”

ประเด็นเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง ก็เห็นด้วยที่จะให้ลดเงินลงมาจาก 1 ล้านบาทเป็น 5 แสนบาท ทำให้การจัดตั้งพรรคการเมือง มีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วการจัดตั้งพรรคการเมือง ควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ เสรีภาพของเขาได้อย่างเต็มที่ในการตั้งพรรคการเมืองที่เขามีอุดมการณ์ ถ้ามีข้อกำหนดมาก ก็จะทำให้พรรคทางเลือก เช่น พรรคกรีน พรรคสิ่งแวดล้อม พรรคคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น เกิดขึ้นยาก

“ส่วนประเด็นที่มาของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในกฎหมายพรรคการเมืองเขียนว่าให้ผู้แทนสาขาพรรค หรือสาขาพรรค มีสิทธิในการพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง ผมเห็นด้วยในประเด็นนี้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560