จีพีเอสซีชูกลยุทธ์ครึ่งปีหลังมุ่งศึกษาตลาดอาเซียน

19 พ.ค. 2560 | 10:45 น.
ดร.เติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 /2560 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 5,366 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2559

ในขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Q1/59) บริษัทฯ มีรายได้ลดลง 118 ล้านบาท คิดเป็น 2% กำไรสุทธิลดลง 121 ล้านบาท หรือ หรือลดลง 14% โดยเป็นผลจากการรับเงินปันผลจาก บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด ลดลง 60 ล้านบาท ประกอบกับโรงไฟฟ้า IRPC -CP กำไรลดลงจากลูกค้ามีการหยุดซ่อมบำรุง

สำหรับการดำเนินงานในครึ่งหลังของปีนี้ จะมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 และสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โครงการ 2 ที่รับรู้ส่วนแบ่งกำไรในไตรมาสที่ 3 โครงการ โรงไฟฟ้า ไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ ระยะที่ 2 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อิจิโนเซกิ โซล่าร์ พาวเวอร์ ในประเทศญี่ปุ่น ที่จะมีการรับรู้รายได้ในไตรมาส 4

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจในปี 2560 บริษัทฯ จะมีการรับรู้รายได้เต็มปี จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี จำกัด และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภท SPP ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

“ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจของจีพีเอสซีในครึ่งปีหลัง 2560 บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในการวางกลยุทธ์โดยมุ่งเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจในกลุ่ม ปตท. ให้เกิดการดำเนินธุรกิจร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเข้าซึ้อกิจการสำหรับโครงการที่น่าสนใจในต่างประเทศ และต่อยอดในประเทศที่ได้มีโครงการที่ได้ลงทุนไปแล้ว” ดร.เติมชัย กล่าว

ขณะที่ บริษัทฯ ได้เล็งเห็นทิศทางในอนาคตของธุรกิจพลังงาน จึงให้ความสำคัญกับการนำระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาใช้ บริษัทจึงได้ต่อยอดความร่วมมือกับ บริษัท 24M Technologies (24M) ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าไปถือหุ้นอยู่ที่ 18.6% ในการได้รับสิทธิบัตรในการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไทยและอาเซียน โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการประเมินภาพรวมตลาดแบตเตอรี่ในภูมิภาคอาเซียนและอยู่ระหว่างการเจรจากับ Partner หลายราย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการร่วมกันทำตลาด รวมถึงการทำรายละเอียดของการลงทุนเพื่อขออนุมัติคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อไป

นับว่าเป็นโอกาสการลงทุนที่มีอนาคตของจีพีเอสซี เนื่องจากทิศทางของการใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จะเห็นว่าแบตเตอรี่คุณภาพสูงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆมากขึ้น เพราะจะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในระบบที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยเทคโนโลยีเกิดจากระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง แบตเตอรี่มีขนาดเล็กลง และน้ำหนักเบา สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต