‘ปัญหาใต้ต้องช่วยกัน’ สถานการณ์พื้นที่คลี่คลายระดับหนึ่ง

23 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
นับจากวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ลงนามตั้ง “คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “คปต.” ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมประสานงานดับไฟใต้ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ฉายภาพผลการทำงานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่คลี่คลายดีขึ้นระดับหนึ่ง

“นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า ครม.ส่วนหน้าสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่คลี่คลายดีขึ้นในระดับหนึ่ง สังเกตได้จากด้านผู้เห็นต่างที่มีเวทีพื้นที่กลางให้คุยกันเพิ่มขึ้น ด้านภัยแทรกซ้อนต่างๆ ก็มีการปราบปรามจับกุมได้มากขึ้นเป็นลำดับมีเวทีประชารัฐแลกเปลี่ยนความเห็นในมิติต่างๆ เพิ่มขึ้น ที่สำคัญได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงองค์กรต่างประเทศมากขึ้น”

ปัญหาหลักในการปฏิบัติ คือ การควบคุมพื้นที่ให้มีความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ในเมืองหลักได้มีการประกอบกำลังดูแลกันอย่างดี แต่ฝ่ายตรงข้ามก็เปลี่ยนยุทธวิธีมาโจมตีก่อกวนให้เกิดความปั่นป่วนในลักษณะหลายๆ จุดพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องมีการปรับยุทธวิธีดูแลให้ทั่วถึงและควบคุมพื้นที่ให้ปลอดภัยได้มากขึ้น โดยแนวทางในการทำงานของ ครม.ส่วนหน้า จะเน้นแก้ปัญหาแบบยั่งยืน และให้มีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกับทุกหน่วยงาน ยึดปรัชญาพระราชทานที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

สำคัญที่สุดขณะนี้ คือ การสร้างการรับรู้ให้ประชาชน สร้างความเข้าใจในนโยบายของรัฐบาลที่มีความตั้งใจเป็นพิเศษในการมุ่งแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการประสานงาน เชื่อมโยงและเร่งรัดการขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งแบ่งเป็น 7 กลุ่มภารกิจงานตามโรดแมปของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการใน 6 เดือนนี้นั้น เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมใน 3 ด้านหลักๆด้วยกัน คือ

+ผลงาน3ด้านแก้ปัญหาใต้
1.งานด้านความมั่นคง ได้ดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการรักษาความปลอดภัย เสริมสร้างชุดคุ้มครองตำบล เสนอแก้ไขมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เสริมประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง จัดชุดพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงใน 4 จังหวัดและจัดตั้งกองกำกับการเก็บกู้วัตถุระเบิด

2.ด้านการพัฒนา จัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ส่งเสริมการลงทุนโดยจัดระบบวันสต็อปเซอร์วิส และอำนวยความสะดวกซอฟท์โลน ออกโฉนดที่ดินทำกินรอบอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีให้แก่ราษฎร ส่งเสริมการประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและฟื้นฟูสภาพอ่าวปัตตานีเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในทุกด้าน

3.ด้านการสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม แก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนด้วยการประสานการฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชน นำไปสู่การทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการร่วมสร้างความเข้าใจกับคณะผู้แทนจากโอไอซีและผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลามจากอียิปต์

+แก้ปัญหาปากท้องคนใต้
ขณะที่การแก้ไขปัญหาปากท้องของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น พล.อ.อุดมเดช ชี้แจงว่าได้เน้นการแก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยขับเคลื่อนทั้งด้านความมั่นคง การพัฒนา และการสร้างความเข้าใจไปพร้อมกันโดยดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ เปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมให้มีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่ และการเพิ่มรายได้รายครัวเรือนให้แก่ประชาชน โดยต้นแบบของโครงการต่างๆที่ดำเนินการตามแนวทางอำเภอหนองจิก อำเภอสุไหง-โกลก และอำเภอเบตง จะได้นำมาเรียนรู้ และปรับปรุงขยายต่อไปยังอำเภออื่นๆทั้ง 37 อำเภอ ครอบคลุม 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

“พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ หมายถึง พื้นที่ที่จะเกิดโรงงานอุตสาหกรรมในมิติที่สอดคล้องกับต้นทุนของพื้นที่ เช่น การแปรรูปยางพารา จากผลผลิตปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว รวมถึงจากการทำปศุสัตว์ และการประมง ส่วนผู้ประกอบการที่สนใจมาลงทุนในพื้นที่จะเน้นให้สิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ ลดภาษีเงินได้ ส่งเสริมทุนบีโอไอ และให้กู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน”

การเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนต้นแบบที่อำเภอหนองจิก ด้วยการส่งเสริมให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ผลิตเพื่อส่งโรงงานหรือการส่งออก สนับสนุนให้เกษตรกรเป็น“สมาร์ท ฟาร์ม” คือ การเป็นพ่อค้าเอง ลดต้นทุนเป็น เพิ่มคุณภาพสินค้าเป็น สามารถป้องกันปัจจัยเสี่ยงด้านศัตรูพืชหรือภัยธรรมชาติส่วนที่สุไหง-โกลก และเบตง จะจัดงานอีเว้นท์สร้างบรรยากาศให้ชาวบ้านนำสินค้ามาร่วมขายที่ตลาดการค้าชายแดน เชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเพิ่มเกิดศักยภาพในเชิงของการท่องเที่ยว การค้า และการผลิตปัจจัย หรือวัตถุดิบด้านการแปรรูปการเกษตร

“รัฐบาลตั้งใจที่จะให้ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นผู้ประสานงานให้มีการทำงานเชื่อมโยงสอดคล้องกันทั้งงานด้านความมั่นคง งานพัฒนา และงานสร้างความเข้าใจ ตามตัวชี้วัดที่เราต้องการจะเห็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญที่สุด คือ ความรุนแรงลดลงทุกคนมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีการขยายการลงทุน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสงบ จนสามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นเศรษฐกิจที่สร้างความเจริญเติบโตก้าวหน้าให้แก่ประเทศไทยในอนาคต เหนืออื่นใดคือ สันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน”

+ ต้องเป็นกำลังใจให้กันและกัน
พล.อ.อุดมเดช ระบุว่าปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกระดับ ทุกมิติการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง และการแก้ปัญหาต้องถูกขับเคลื่อนกันไปทั้งองคาพยพ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องการฝากถึงประชาชน คือ เราต้องช่วยกัน และเป็นกำลังใจให้กันและกัน

ขอฝากให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่มีความตั้งใจในการทำงาน พยายามกำกับดูแลให้สมกับที่นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายภาคใต้ได้มุ่งหวังให้เราไปดำเนินการ แม้ว่าเราอาจไม่มีกรอบอำนาจ แต่หน้าที่ที่มอบให้ เราก็พยายามทำอย่างเต็มที่

นอกจากนั้นต้องขอความเห็นใจจากสื่อทุกแขนง มาช่วยกันสร้างสรรค์ อะไรต่าง ๆ เราพร้อมรับฟัง ขอให้แจ้งให้บอกมา แต่วิธีการที่ไปลงข่าวในลักษณะที่ผิดเพื้ยน หรือผู้ปฎิบัติงานไปทำในสิ่งไม่ดีไม่งาม เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานกำลังใจลดน้อยลง อยากให้ช่วยกันสร้างสรรค์ภาพที่ดีออกมา สามารถแนะนำเจ้าหน้าที่ได้ถ้าหากมีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล

++เดินหน้า‘พาคนกลับบ้าน’
พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงโครงการพาคนกลับบ้านซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างที่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับรัฐได้ยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรง กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวอย่างอบอุ่นอีกครั้งว่า จากข้อมูลปลายเดือนเมษายน 2560 มีผู้เห็นต่างเข้ามาแสดงตัวจำนวน 4,460 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หวาดระแวงจำนวน 338 คน ผู้ติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3,692 คนซึ่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปลดหมาย และนำสู่ขั้นตอนเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนผู้ติดหมาย ป.วิ อาญาจำนวน 430 คนนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่จะช่วยประสานงานให้

“สังเกตได้ว่า มียอดผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 4,000 คน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในแนวทางแก้ปัญหาของรัฐที่ใช้สันติวิธี และผู้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้จะเป็นฐานสำคัญกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตน และสนับสนุนรัฐในการสร้างสันติสุข”

พล.อ.อุดมเดช ย้ำว่า โครงการพาคนกลับบ้านรูปแบบหลักดีอยู่แล้ว มีขั้นตอนคัดกรอง จัดให้มีการอบรม ปรับอุดมการณ์ ปรับทัศนคติเป็นช่วง ไม่ได้ทำครั้งเดียวหมด มีการติดตามพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นมีการฝึกอบรมสร้างอาชีพ ส่วนใครที่มีหมายติดตัว เราก็ทำหน้าที่ช่วยดูแลและให้เขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560