"คสช." เปลี่ยนสังคม!

22 พ.ค. 2560 | 09:23 น.
หลายนโยบายการจัดระเบียบสังคม ของรัฐบาล คสช. เรียกได้ว่าสร้างปรากฏการณ์ และแรงกระเพื่อมต่อสังคมไม่น้อย แม้เกือบจะทุกนโยบายที่บังคับใช้จะได้รับทั้งเสียงหนุน และเสียงต้านไปในตัว แต่ส่วนมาก ก็เกิดเป็นรูปธรรม และทำให้สังคมเป็นระเบียบมากขึ้น ติดตามจากรายงาน


ก่อนเข้าสงกรานต์ปี 2560 นับเป็นช่วงที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม กับการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 44 ห้ามผู้โดยสารนั่งแคป – นั่งท้ายกระบะ

คำสั่ง คสช. ที่ 14/256 ประกาศให้ผู้ใช้รถใช้ถนน “คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง” และ “ห้ามนั่งท้ายกระบะ-นั่งแค๊บ” หากผู้ใดฝ่าฝืนโดนจับโดนปรับถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด”มากกว่า 90% ไม่เห็นด้วย ประกาศนี้บังคับใช้ได้เพียงวันเดียว คสช. ยอมถอย หลังเกิดกระแสต้านอย่างหนักกับแนวคิดนี้ของรัฐบาล คสช.

แต่สิ่งที่เห็นผล และได้รับเสียงเชียร์ในห้วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะบรรดาผู้โดยสารสาธารณะทั้งหลาย คงเป็นคำสั่งจัดระเบียบรถตู้ หลังเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 ศพ ช่วงปีใหม่ 2560

มาตรการนี้ดูเหมือนว่าจะได้ผล เมื่อรถตู้โดยสารเริ่มปรับตัว เพิ่มความปลอดภัยด้วยการจัดให้มีเพียง 13 ที่นั่ง ยอมตัดที่นั่งด้านท้าย เปิดเป็นช่องทางนิรภัย แต่มีบางราย เลือกจะปรับตัว เพียงเพื่อ ตบตา

เรื่องราวของรถตู้ อีกกระแสที่ได้รับทั้งเสียงหนุน และเสียงต้าน กับการจัดระเบียบรถตู้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ย้ายจุดจอดรถตู้ที่วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดในระยะไม่เกิน 300 กิโลเมตร ให้ย้ายจุดจอด 7 จุดรอบอนุสาวรีย์ ไปยังสถานีขนส่งทั้ง 3 แห่ง

มาตรการนี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และศูนย์รวมการต่อรถ แต่แลกมาด้วยสภาพจราจรรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่โล่งตาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่แลกมาด้วยธรรมชาติที่ฟื้นคืน หนีไม่พ้นการจัดระเบียบชายหาด ร่ม และเตียงผ้าใบที่เคยขวางตา ถูกเก็บเป็นระเบียบ แล้วแทนที่ด้วยหาดทราย

ไม่เพียงคืนชายหาด คสช. ยังคืนคลอง และทางเท้าให้คนกรุงเทพ กับนโยบายจัดระเบียบเมืองหลวง คืนถนนให้คนเดิน

แต่นโยบายที่ว่า ก็สร้างกระแสดราม่าในสังคมไม่น้อย แรงต้านจากผู้ค้าว่าเป็นนโยบาย คืนความทุกข์บ้าง เสน่ห์จะหายไปบ้าง กลายเป็นคำยอดฮิตในห้วงเวลาของการจัดระเบียบ ไม่ต่างจากเสียงของฝ่ายหนุน ที่ขอทวงคืนทางเท้า รวมไปถึง คนไทยไม่ เอาหาบเร่ แผงลอย

ดาบอาญาสิทธิ์ที่ คสช. มอบให้ ทำให้กรุงเทพมหานคร เดินหน้าจัดระเบียบทางเท้าเรื่อยมา และรวมถึง สตรีทฟู้ด เสน่ห์ที่หากินได้แบบ 24 ชั่วโมง จนต่างชาติจัดอันดับให้ไทยเป็นอาหารริมทางที่ดีที่สุดในโลก เบื้องหลังที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกิน มันกำลังถูกยกระดับให้มีคุณภาพมากขึ้น เป้าการจัดระเบียบ 48 เขต จาก 50 เขต บนถนน 73 สายในกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มต้องเสร็จสิ้น ภายในเดือนสิงหาคม 2560

ปรากฏการณ์มาตรา 44 ที่บังคับใช้ มาพร้อมทั้งแรงหนุน และแรงต้าน ที่ผู้มีอำนาจจำต้องรับฟัง โดยเฉพาะกับการประกาศที่ส่งผลกระทบต่อวิถี ซึ่งมันถูกละเลยการบังคับใช้กฎหมายจนกลายเป็นชีวิตประจำวัน ที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว

จากนี้ไปคงต้องจับตา ว่ามาตรา 44 ที่บังคับใช้ จะยังมีผลสืบเนื่องกับสังคม หลังประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ในวันที่ไร้ซึ่งรัฐบาล คสช. ต่อไปหรือไม่