3 ปี "คสช." ในมุมมอง...ชาวต่างชาติ

22 พ.ค. 2560 | 11:10 น.
วันนี้(22 พ.ค.60)ครบรอบ 3 ปีของการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เราไปลองฟังเสียงจากชาวต่างชาติ ว่าเขามีมุมมองต่อการทำงานของรัฐบาลไทยชุดนี้อย่างไร

ภาพการประท้วง การปะทะบนท้องถนน ถูกเผยแพร่ไปตามหน้าสื่อทั่วโลก สายตานับล้านจับตาสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนของไทยอย่างใกล้ชิด หลายประเทศออกประกาศเตือนประชาชนที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบินจำนวนไม่น้อยถูกแจ้งยกเลิก และการลงทุนต่างชาติชะลอตัว

ภาพเหล่านี้กลายเป็นความทรงจำที่ลางเรือน นับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. รัฐประหารเข้าควบคุมดูแลบ้านเมือง ฟื้นฟูความสงบ จัดระเบียบสังคม

3 ปีภายใต้การบริหารประเทศของคสช. ภาคธุรกิจท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนค่อยๆ กลับมาในบรรยากาศที่คุ้นเคยอีกครั้ง

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ไม่เพียงแต่กระทบต่อคนไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงความเชื่อมั่นและสถานะของไทยในเวทีโลก เราลองไปฟังความเห็นของชาวต่างชาติกันบ้างว่า ว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร

Derek van Pelt (เดเรค แวน เพลต์) อาศัยอยู่ในไทยมานานถึง 20 ปีแล้ว เขาเคยทำงานเป็นครูก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักธุรกิจอย่างเต็มตัว จึงติดตามข่าวสารบ้านเมืองของไทยมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ ซึ่งเขามองว่า การทำงานของคสช. ทำให้การทำงานของรัฐบาลเดินหน้าไปได้รวดเร็ว

"ผมเห็นว่าเขาตั้งใจมากที่จะผลักดันประเทศไปข้างหน้า การทำงานของเขาช่วยประเทศได้ในทางใดทางหนึ่งแน่นอน ช่วยตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง ที่ต้องใช้ระยะเวลานานๆ หรือผ่านกระบวนการตัดสินใจหลายขั้นตอน เมื่อตัดทอนขั้นตอน และหลายๆ เรื่องไป ทำให้หลายโครงการเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น กว่าขั้นตอนปกติที่เคยเป็น" เดเรค แวน เพลต์ กล่าว

เดเรค แวน เพลต์ กล่าวต่ออีกว่า "จากมุมมองเรื่องธุรกิจ คงไม่มีใครกังวลอะไร แต่เรื่องของจุดยืนความสัมพันธ์ ต่างชาติรักประเทศไทย และผมคิดว่า เขาก็อยากจะเห็นคนไทยสามารถขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ขับเคลื่อนความสุขของพวกเขาเองได้ ซึ่งประชาธิปไตยอาจจะเป็นทางหนึ่ง ที่เสียงของทุกคนจะได้รับฟัง จากมุมมองนั้น ถ้าคนไทยสามารถตัดสินอนาคตของตัวเองได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคน"

นอกจากนี้ เขายังบอกว่าเพื่อนๆ ชาวต่างชาติของเขายังคงกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่บ้าง อาจด้วยภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งเขาก็ยืนยันกับเพื่อนว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่ปลอดภัย

สำหรับเรื่องของการเปลี่ยนรัฐบาลอาจจะกระทบต่อไทยหรือไม่นั้น เดเรค แวน เพลต์ ระบุว่า ส่งผลกระทบโดยตรง ส่วนเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยว ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เชื่อว่า ไทยยังคงเปิดกว้างสำหรับนักลงทุน

ขณะเดียวกันมาตรการบางอย่างของรัฐบาลคสช. แม้จะมีความประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างชาติ กลับมองว่าเป็นการปิดกั้นการแสดงออก พวกเขาอยากให้รัฐบาลรับฟังมากกว่านี้ ยกตัวอย่าง องค์การนิรโทษกรรมสากลที่รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้แถลงข่าวถึงกรณีการใช้วิธีทรมานของผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ในไทย

ดร.ยูวัล กินบาร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย องค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวถึงกรณี รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้แถลงข่าวถึงกรณีการใช้วิธีทรมานของผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ในไทยนี้ว่า "ตกใจมาก เพราะสั่งให้ยกเลิกกระทันหัน ทั้งที่องค์การนิรโทษกรรมสากลมากันครบ และเตรียมจะขึ้นแถลงข่าวแล้ว รัฐบาลชุดนี้ดูตั้งใจยับยั้งการวิพากษ์วิจารณ์ มากกว่าตั้งใจฟัง

ดร.ยูวัล ยืนยันว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องดีต่อรัฐบาลเพราะช่วยให้รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาและแก้ไขมัน รัฐบาลไม่ควรมองกลุ่มอย่างพวกเราว่าเป็นศัตรู

ต่างชาติยังคงติดตามการทำงานของคสช. โดยเฉพาะโร้ดแมปการเลือกตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองที่จะส่งผลต่อแผนการลงทุนในระยะยาว ช่วงเวลาที่เหลือและบทบาทอำนาจของคสช.หลังการเลือกตั้งจะหน้าตาเป็นอย่างไร นี่ก็คือโจทย์คำถามใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเฝ้ารอคำตอบ