ดันร่างก.ม.วิสาหกิจเพื่อสังคม ยุทธวิธีเสริมจุดแข็ง ‘ประชาสังคม-เอ็นจีโอ’

25 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
ภายใต้โมเดลรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรสาธารณประโยชน์ ภาคประชาสังคม และกลุ่มองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ยังต้องพึ่งพาเงินบริจาค อาศัยเพียงเงินสงเคราะห์ มาสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ซึ่งเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะขาดความช่วยเหลือแบบต่อเนื่องส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนความตั้งใจอันดีให้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ขององค์กรเหล่านั้นได้ สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติฯเมื่อปี 2556 ซึ่งสำรวจองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ระบุว่า 81.8% ของรายได้ทั้งหมดมาจากเงินบริจาคและเงินสงเคราะห์ดังนั้น หากองค์กรทำดีเหล่านี้มีทางเลือกไม่ต้องพึ่งพาเพียงเงินบริจาค หรือการสนับสนุนจากรัฐมาขับเคลื่อนงานทางสังคมเหมือนเช่นในอดีตย่อมเป็นเรื่องที่ดี

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ด้านเศรษฐกิจ ต่อเนื่องถึงการเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคม” ร่างกฎหมายสำคัญอีกฉบับที่ต้องเร่งผลักดันในปี 2560 ว่า เป็นแนวคิดใหม่เพื่อสนับสนุนภาคประชาสังคมให้พึ้งพาตัวเองได้โดยนำจุดแข็งของกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ใช้กลไกของภาคธุรกิจมาดำเนินการ โดยยังคงเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์กรเหล่านั้นไว้

ชูกำไรธุรกิจแบ่งปันสังคม
“ที่ผ่านมาผู้ที่ตั้งใจทำดีอาทิ องค์กรการกุศลต่างๆ มีขีดจำกัดจะต้องหาผู้ใจบุญมาช่วยออกเงิน มาบริจาค ใช้วิธีการเรี่ยไรเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการทำความดี ในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งก็จะคึกคัก จะใจบุญกันสักระยะหนึ่ง ไม่เกิดความต่อเนื่อง สุดท้ายองค์กรเหล่านี้ก็ต้องพับไป ต้องเฉากันไป ตรงกันข้ามหากดำเนินธุรกิจก็จะต้องทำในลักษณะของการจัดตั้งเป็นสหกรณ์หรือเป็นบริษัทที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้ากำไร เพื่อเอากำไรมาแบ่งปันกัน”

เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดผู้ที่จะทำความดีจะทำธุรกิจเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาช่วยเหลือสังคมไม่ได้? คำตอบที่ได้ คิดว่าน่าจะทำได้ ใช้รูปแบบของธุรกิจรูปแบบของกลไกตลาดมาทำประโยชน์เพื่อภาคประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคิดออกแบบกันว่าถ้าทำธุรกิจเอาเข้าบริษัท หากำไรแต่ไม่มีการแบ่งปันผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น เอากำไรนั้นมาทำประโยชน์สาธารณะ
แนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ยอมให้จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดที่มุ่งหากำไร มีกำไรได้ แต่ไม่นำกำไรนั้นมาแบ่งปันกันให้กับผู้ถือหุ้น แต่นำกำไรนั้นไปกระทำการที่เป็นการกุศล ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นประโยชน์ต่อคนยากจน

“หลักการของ วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise(SE) คือ ทำธุรกิจเพื่อหากำไรแต่กำไรนั้นไม่ได้นำมาแบ่งปันกันแต่ให้นำไปใช้เพื่อการกุศล ไปทำคุณงามความดีให้กับสังคมเช่น นำไปจัดการศึกษาให้กับผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ขุดบ่อนํ้าให้ชุมชนไว้ใช้ หรือนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆเป็นต้น ซึ่งปกติจะอาศัยการบริจาค ใช้การเรี่ยไร และการทำบุญจากผู้ใจบุญเป็นหลัก”

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทลักษณะนี้ในเมืองไทย นายสมชัย ยกตัวอย่างวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้เห็นกันแล้วในประเทศไทย อาทิ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง (ดอยตุง) และมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ตั้งบริษัทลักษณะนี้ขึ้นเพียงแต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับต้องไปใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในการจัดตั้งบริษัท

“ระยะเริ่มแรกนั้น มีความตั้งใจว่า จะไม่แบ่งกำไรกัน ซึ่งตามกฎหมายสามารถแบ่งได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเจ้าของ เปลี่ยนผู้ถือหุ้นแทน หรือเสียชีวิตไปก็สามารถจะแบ่งกำไรกันได้ หากมีกฎหมายออกมารองรับบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีวัตถุประสงค์เช่นนี้ตลอดไป และดำเนินการอย่างถูกต้องตามกติกาจะได้แยกเป็นประเภทให้ชัดเจนไปเลยว่า นี่คือบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อนำกำไรไปทำประโยชน์ให้กับสังคม”

 แตกต่างจากบริษัทประชารัฐ
ขณะที่การจัดตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ที่รัฐบาลเร่งรัดผลักดันให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัดของประเทศในขณะนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินการธุรกิจที่มีลักษณะและวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันนั้น นายสมชัยอธิบายโดยชี้ให้เห็น “ความแตกต่าง” ว่า บริษัทประชารัฐฯนั้น รัฐเป็นคนทำ ไปชวนภาคเอกชน ชวนภาคประชาชนมาร่วมกันทำ ใช้พลัง ใช้กฎหมาย ใช้อำนาจของรัฐ โครงสร้างมีผู้แทนของภาครัฐเข้าไปร่วมด้วย แต่สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมตามหลักการของกฎหมายฉบับนี้นั้นการบริหารงานจะเป็นภาคเอกชนภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชน จะไม่เกี่ยวกับรัฐเลยเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นด้วยความตั้งใจดีที่จะหาเงิน เพื่อที่จะนำกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจไปทำประโยชน์ ทำงานเพื่อสังคมมิใช่นำมาแบ่งปันให้กับผู้ถือหุ้น

ขณะที่ “การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ที่ภาคเอกชนนำมาปรับใช้และเห็นกันจนชินตานั้น ถือเป็นพื้นฐานทั่วไปของผู้ประกอบกิจการทางธุรกิจที่จะต้องผลิตสินค้าทีดี่มีคุณภาพ ไม่เป็นภัยต่อสังคมไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ทำผิดกฎหมายและเสียภาษีอย่างถูกต้อง นี่คือ การทำซีเอสอาร์ ที่ควรจะทำอยู่แล้ว ส่วนจะไปทำกิจกรรม ไปบริจาค แจกผ้าห่มไม่ต้องทำก็ได้ เพราะบริษัทไม่ได้มีหน้าที่ตรงนั้น นายสมชัย กล่าวตั้งข้อสังเกต และว่า

“วัตถุประสงค์ของบริษัทข้างต้นก็เพื่อแสวงหากำไรให้มากที่สุด วิธีการผลิตใดที่จะทำให้ต้นทุนถูก ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีเครื่องกำจัดมลพิษ บำบัดนํ้าเสีย แต่ไม่เปิดใช้เพราะเสียค่าไฟ ใช้วิธีลดต้นทุนลักษณะนี้ หลังจากได้กำไรมา แล้วนำกำไรไปทำกิจกรรมต่างๆ หรือมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ต้องเสียตามสัดส่วนที่ถูกต้องแต่ไม่ทำ การกระทำเช่นนี้ เราจะเรียกว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้หรือไม่ ลักษณะเช่นนี้ต้องทำความเข้าใจกับสังคม เพราะกำลังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำซีเอสอาร์ของผู้ประกอบธุรกิจ”

อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมที่กำลังพูดถึงนี้ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีซีเอสอาร์ คือ เสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ผลิตสินค้าที่มีอันตรายหรือเป็นพิษกับคน กับสังคม และนำกำไรทั้งหมดมาทำประโยชน์เพื่อสังคมไม่ใช่นำไปแบ่งปันกัน กรณีประสงค์อยากทำธุรกิจเพื่อสังคมก็ต้องแยกออกมาให้ชัดเจน

วันนี้มีคนจำนวนหนึ่งที่ทำงานเพื่อสังคม (เอ็นจีโอ) ซึ่งต้องอาศัยเงินจากที่อื่น จากมูลนิธิคนใจบุญ รวมถึงหน่วยงานในต่างประเทศที่จะสนับสนุนให้คอนเซ็ปต์ใหม่ คืออยากให้มีแหล่งใหม่ คือการทำธุรกิจเพื่อสังคมได้ และควรแยกออกมาให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อมีคอนเซ็ปต์ มีกฎหมายนี้รองรับก็จะสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมว่ามีธุรกิจประเภทนี้อยู่

“ยกตัวอย่างเช่น มี 2บริษัทตั้งขึ้นมาผลิตสินค้า หากผู้บริโภคอยากจะทำบุญก็สามารถที่จะเลือกซื้อสินค้าที่นำกำไรไปทำบุญได้ บริษัทลักษณะนี้ก็จะช่วยเหลือภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และช่วยแบบไม่ได้อาศัยอำนาจรัฐ ทำให้ประชาชนสังคมเข้มแข็งขึ้น” นายสมชัยระบุ

4คุณลักษณะวิสาหกิตเพื่อสังคม
ในรายงานเรื่อง“วิสาหกิจเพื่อสังคม” (SocialEnterprise : SE) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2558 และได้นำส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 และสปท.ได้รับช่วงมาดำเนินการต่อนั้น ได้ระบุถึงคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการของวิสาหกิจเพื่อสังคมไว้ ดังนี้

1.เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีโจทย์ทางสังคมเป้าหมายหลักขององค์กร ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์กำไรและประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น

2.การใช้รูปแบบธุรกิจในการดำเนินการนั้น รายได้หลักจะต้องมาจากการขายสินค้า หรือบริการเป็นหลักไม่ใช่มาจากเงินได้เปล่าจากรัฐหรือเงินบริจาค

3.การจัดการผลกำไรจะต้องนำไปขยายผลตามวัตถุประสงค์ทางสังคม (reinvestment)หรือประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่การนำไปปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตน

และ 4.การมีธรรมาภิบาลในกระบวนการบริหารจัดการทั้งกับผู้ร่วมงานในองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560