งัด "ม. 44" เดินหน้าอีอีซี ต่างชาติถือหุ้นอุตฯ ชิ้นส่วนอากาศยานได้ 50%

23 พ.ค. 2560 | 10:38 น.
วันที่ 23 พ.ค.60 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. ในวันนี้ว่า ในการประชุมคสช. ร่วมกับ ครม. เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี )ว่า โครงการ อีอีซี ถือเป็นโครงการเร่งด่วน และมีโครงการสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งไม่สามารถรอพ.ร.บ. ได้ เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างฟังความเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาสภาพนิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าคสช. จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รวมทั้งสิ้น 3 เรื่องดังนี้

1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการหรือกิจการสำคัญและเร่งด่วนของอีอีซีเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันยังให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมจากผู้ขออนุญาตได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยให้ใช้เวลาพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน

2.กระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันจะใช้เวลาอย่างน้อย 8-9 เดือน ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการจึงให้นายกรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการตามมาตรฐานการร่วมทุนได้เป็นการพิเศษ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ

3. ให้หน่วยซ่อมอากาศยานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามลักษณะการลงทุน ซึ่งเดิมกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซ่อมต้องมีสัญชาติไทย หรือมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50% แต่ตามกิจการ เช่น การซ่อมเครื่องบิน อะไหล่ และชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตริสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ จึงจะไม่ยอมลงทุนโดยมีผู้ถือหุ้นอื่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจึงปรับปรุงลักษณะของผู้ได้รับใบรับรองในเขตอีอีซีเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น

ส่วนร่างอื่นๆ ตามพ.ร.บ.อีอีซีนั้น ยังให้ดำเนินการตามกระบวนการเดิม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งรัด ติดตามและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อให้มีผลออกมาชัดเจน ซึ่งหากพบว่า เรื่องใดมีความจำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนและต้องใช้อำนาจม.44 ให้เสนอมาได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเดินหน้าประเทศไทยสู่ไทยเเลนด์ 4.0