ฎีกามัด! "คิงเพาเวอร์"

24 พ.ค. 2560 | 05:35 น.
คำพิพากษาศาลฎีกา ในคดี ‘เจิมศักดิ์’ อาจทำให้คิงเพาเวอร์ตกที่นั่งลำบาก ส่อขัดกฎหมายศุลกากร ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีกรณีซื้อสินค้าขาออก รับของขาเข้า ขณะที่นิตินัย ศิริสมรรถการ เอ็มดี บริษัท ท่าอากาศยานไทยประกาศชัดว่าพร้อมจะทำตามกฎหมายกรมศุลฯ โอดตรวจสอบหลายครั้งแล้ว

 

การตรวจสอบบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีฯ ที่อาจไม่ปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากร เลขที่ 20/2549 กำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบิน ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อนำสินค้าปลอดอากรออกไปนอกราชอาณาจักร แต่พบว่าสามารถซื้อสินค้าแล้วไม่ได้นำออกนอกประเทศ รวมทั้งมีการขายสินค้าให้กับผู้ที่ไม่ได้ใช้พาสปอร์ต เคยมีคดีฟ้องร้องกันมาแล้วผลออกมาผู้ถูกฟ้องไม่ผิด

 

เป็นคดีระหว่างบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีฯ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นจำเลยในข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326 และ 332 ขณะนั้นนายเจิมศักดิ์ เป็นพิธีกรทำรายการ “ลงเอย อย่างไร” ตอน ของเถื่อน ภาษีเถื่อน ได้ไปสัมภาษณ์นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกำกับดูแลกรมสรรพสามิต ณ ขณะนั้น

 

 

มีการซักถามถึงช่องทางการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี ซึ่งนายเจิมศักดิ์ได้ระบุตอนหนึ่งว่า ทราบว่าในอดีตท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เคยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการนำสินค้าปลอดอากรออกมาขายภายในประเทศ ประกอบกับคำบอกเล่าของเพื่อนนักธุรกิจรายหนึ่งบอกว่า เคยโทรศัพท์สั่งซื้อเหล้า บุหรี่ ไวน์จากร้านค้าปลอดอากร โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต พร้อมกับจัดส่งให้ถึงบ้านได้ นายเจิมศักดิ์กล่าวว่า “ถ้าระบบทำแบบนี้ตนเองเป็นห่วง เราจะมีเหล้า บุหรี่ไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ขายในบ้านเมืองของเรา” หลังจากออกอากาศก็ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท

 

55

ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยนำคลิปวิดีโอการสั่งซื้อสุรา ไวน์ หลายลังจากบุคคลหนึ่ง โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบิน ซึ่งสินค้าทั้งหมดถูกใส่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีชื่อบริษัทของโจทก์ติดอยู่ที่ถุงและมีผู้นำมาส่งให้ถึงบ้าน จึงเชื่อว่าสามารถสั่งซื้อสินค้าปลอดอากรจากบริษัทของโจทก์ได้จริง เป็นการพิสูจน์ได้ว่า คำพูดที่จำเลยกล่าวในรายการเป็นเรื่องจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 การกระทำของจำเลย จึงได้รับยกเว้นโทษความผิดฐานหมิ่นประมาท คิงเพาเวอร์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลมีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

สุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องคดีเช่นกัน ซึ่งศาลฎีกามีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยกับ รมช.คลังในรายการ ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะสื่อมวลชนโดยสุจริต ที่วิญญูชนคนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และขณะที่ตั้งข้อสงสัยนั้น จำเลยก็ดำรงตำแหน่ง บอร์ด ทอท.ถือว่าได้ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้แก่สังคมเพื่อช่วยตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานรัฐเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้ยกฟ้อง

 
นายเจิมศักดิ์กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยยืนยันว่า บอร์ด ทอท.ชุด พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานในขณะนั้นได้เคยมีมติไว้แล้วว่า สัญญาดังกล่าว เป็นโมฆะ เนื่องจากคิงเพาเวอร์ทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 สัญญาเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น สัญญาใดก็ตามที่ทำกันแล้วขัดต่อกฎหมายทำไม่ได้ และถือเป็นสัญญาที่ไม่เคยมีต่อกันตั้งแต่ปี 2548 จนปัจจุบันนี้ ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีจะดำเนินการเสียก็น่าจะดี

 

18077031_10158647548880323_5027162852870915501_o

กรณีที่คิงเพาเวอร์ ฟ้อง ทอท.เรียกค่าเสียหาย แต่สุดท้ายยอมความกันนั้น ได้ระบุข้อความให้ไว้กับศาลว่า สำหรับพื้นที่ที่ เกินสัญญา กรณีของร้านค้าดิวตี้ฟรีที่เกิน 5,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) แต่ทำจริงกว่า 1 หมื่นตร.ม. และร้านค้าเชิงพาณิชย์ที่ทำ 2 หมื่นตร.ม. แต่ทำจริงเกือบ 3 หมื่นตร.ม.นั้น ส่วนที่เกินจะต้องมาตกลงดูแลกันใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี พบว่าพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นได้ไปตกลงกันด้วยการจ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่

 

“อย่าให้มีการผูกขาดพื้นที่ทั้งหมด กรณีดิวตี้ฟรีเสนอว่า ควรมีอย่างน้อย 3 รายเพื่อให้เกิดการแข่งขันกัน ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น มองว่า ทอท.มีความสามารถที่จะทำเอง หรือจะหาผู้เช่า ทำสัญญาเป็นรายๆไปก็ได้ ควรพยายามให้เกิดการแข่งขันให้มากที่สุด”
ทอท.ลั่นทำตามกรมศุลฯ

 

จากกรณีที่นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เดินหน้าตรวจสอบคิงเพาเวอร์ตามที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยื่นเรื่องมาใน 2 ประเด็นคือ

 
1.การปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายศุลกากร โดยมีการส่งเสริมให้นำสินค้าปลอดภาษีเข้ามาบริโภคในประเทศ กรณีการขายสินค้าแบบพรีออร์เดอร์ หรือซื้อขาออกรับสินค้าขาเข้า ณ จุดส่งมอบสินค้า บริเวณชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า

 

 

2.ข้อสังเกตที่ว่าบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด กำหนดให้มีจุดส่งมอบสินค้า ของร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่มีกฎหมายรองรับนั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ชี้แจง “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รอให้กรมศุลกากรตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งหากกรมศุลกากร มีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมา ทอท.ก็พร้อมปฏิบัติตาม เป็นเรื่องของความชอบธรรม แต่ตอนนี้เมื่อยังไม่ได้ชี้มูลอะไรออกมา ก็ยังถือว่าคิงเพาเวอร์ไม่ได้ทำอะไรผิด

 

15370073_10157922593285323_3459852461390415308_o

นอกจากนี้ก่อนเดือนธันวาคม 2548 การซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีขาออกในสนามบินเป็นสิทธิที่ผู้เดินทางออกนอกประเทศ เมื่อซื้อสินค้าแล้วต้องนำของออกไปนอกประเทศพร้อมกัน ก่อนจะถือกลับเข้ามาในประเทศ แต่หลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2548 นายทนงพิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามประกาศกระทรวงการคลัง อนุญาตให้ผู้เดินทางเข้ามาในไทย สามารถซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีขาเข้าได้ รวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาท

 

“ผมไม่ได้รู้สึกหนักใจ เพราะเราต้องแยกว่าเรื่องเกิดมานาน รวมทั้งเรื่องที่ สปท.เปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง 49 คนก็ล้วนเป็นอดีตผู้บริหารทั้งหมด ขณะที่ผมและบอร์ดชุดนี้ก็อยู่ในช่วงการบริหารสัญญาดิวตี้ฟรีและการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ ทอท.ทำไว้กับคิงเพาเวอร์จะหมดสัญญาในวันที่ 27 กันยายน 2563 ตราบใดที่ยังไม่มีบทสรุปของการวินิจฉัย เราก็ยังต้องทำตามนิติกรรมสัญญาที่มาแต่ในอดีต”

 

ประเด็นการแสดงยอดขายที่ไม่ตรงกันระหว่าง ทอท.กับกรมศุลกากร ทอท.ก็เคยชี้แจงแล้วว่า ท้ายที่สุดเมื่อสรุปยอดขายออกมาก็จะออกมาตรงกัน เช่นเดียวกับเรื่องการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์เกินสัญญา ข้อเท็จจริงบางช่วงที่บางพื้นที่มีการปิดปรับปรุง หรือทำอีเวนต์ คิงเพาเวอร์มีการขอใช้พื้นที่เพิ่มชั่วคราว ระหว่างนั้นทอท.ก็เรียกเก็บผลประโยชน์ทั้งในพื้นที่เดิมและพื้นที่ที่ขอใช้ชั่วคราวและเมื่อปรับปรุงพื้นที่เสร็จก็ย้ายกลับมาอยู่ที่เดิม