‘ดีแทค’คว้าคลื่น2300 เสริมเขี้ยวโมบายบรอดแบนด์

28 พ.ค. 2560 | 10:00 น.
ในที่สุดคณะกรรมการ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอย่างเป็นทางการเลือกบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) ได้เป็นคู่ค้าของ ทีโอทีในการให้บริการไร้สายบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์(ดูตารางข้อเสนอของ ดีแทคไตรเน็ต ประกอบ)

**ย้อนรอย
27 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอทำคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ปรากฏว่ามีผู้สนใจทั้งสิ้น 6 ราย อันได้แก่ บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด , บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เครือเอไอเอส , บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เครือดีแทค , บริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท TUC RMV for 2300 MHz Consortium

ว่ากันว่าคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ “ดีแทค” ปักธงคลื่นดังกล่าวไว้แล้วเพราะมีความพยายามผลักดันให้ ทีโอที นำคลื่นนี้ออกมาบริหารจัดการ เนื่องจากสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 นั้นจึงเป็นที่มาที่ ดีแทค จำเป็นต้องหาคลื่นความถี่ใหม่มาครอบครองก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

** เสริมเขี้ยวโมบายบรอดแบนด์
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดแผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ถือเป็นคลื่นความที่มีศักยภาพในการพัฒนาบริการ 4จี เทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution: มีความเร็วมากกว่า 3 จีถึง 10 เท่า) แบบ TDD (Time division duplex) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี 4G แบบหนึ่งที่มีการนำมาใช้บนย่านความถี่ดังกล่าวได้ และที่ผ่านมาก็มีการให้บริการเชิงพาณิชย์ในหลายประเทศ อาทิ ในยุโรป จีน อินเดีย และออสเตรเลีย

ส่วนในประเทศไทยนั้น ผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮริตซ์ และ ยังมีสิทธิ์ใช้งานคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว คือ ทีโอที ซึ่งต่อมามีแนวคิดหาพันธมิตรเพื่อลงทุนนำมาให้บริการหารายได้ รวมถึงข้อมูลที่ ดีแทค แจ้งตลาดฯ ว่าได้รับคัดเลือกให้เป็นพันธมิตรร่วมบริการนั้น

“ในแง่ของ ดีแทค จะเป็นการเสริมศักยภาพการให้บริการ โมบาย บรอดแบนด์ (mobile broadband) ของตนเอง นอกเหนือจากคลื่นความถี่ที่ ดีแทค มีในตอนนี้คือ 850 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคลื่นย่าน 850 และ 1800 จะหมดสัญญาสัมปทานที่มีกับ แคท หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และต้องส่งคลื่นคลื่นในปี 2561”

**สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า
นอกจากนี้ นายสืบศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา ดีแทค ไม่ได้ประมูลคลื่นความถี่ในย่านอื่นเพิ่มเติม การได้คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ จะทำให้ ดีแทค และลูกค้ามีความมั่นใจว่า ผู้ให้บริการจะยังมีความถี่เพียงพอในการให้บริการ ก่อนจะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ หรือนำความถี่ที่หมดสัมปทานมาประมูลใหม่ในปีหน้า

** มือถือรุ่นใหม่รองรับ 2300
ส่วนการตั้งข้อสังเกตุว่าคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ไม่เคยถูกนำมาให้บริการในประเทศไทยหรือจะมีเครื่องลูกข่ายที่ใช้บริการได้หรือไม่นั้น จริงๆแล้วในปัจจุบันเครื่องมือถือหลายแบรนด์ และ หลายรุ่นที่วางจำหน่ายในท้องตลาด โดยเฉพาะรุ่นใหม่ ๆ รองรับการใช้งาน 4จี แอลทีอี ทั้งแบบ FDD (Frequency Division Duplex ; คือการรับส่งสัญญาณข้อมูล Downlink และ Uplink ใช้คววามถี่ต่างกัน) และ TDD ได้หลายความถี่ ไม่ว่าจะเป็น 900 1800 2100 เมกะเฮิรตซ์ หรือแม้แต่ย่าน 2300 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ในแบบ TDD ที่ผู้ใช้งานอาจไม่ทราบมาก่อน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีผู้ให้บริการในบ้านเรา ส่วนผู้ใช้บริการโดยเฉพาะลูกค้าของ DTAC ที่อาจจะมีเครื่องรุ่นเก่า หรือรุ่นอื่นที่ไม่รองรับความถี่ 2300 ผู้ให้บริการอาจจะมีการนำเข้าเครื่องมาจำหน่ายหรือให้เปลี่ยนก็ได้ ซึ่งคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศจีน และมีผู้ผลิตเครื่องหลายราย

** เสริมรายได้ให้ “ทีโอที”
นอกจากนี้ นายสืบศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับ ทีโอที ต้องถือว่า การได้พันธมิตรร่วมให้บริการแล ะการนำคลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาใช้งานถือว่าจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้องค์กรอีกทางหนึ่ง หลังจากที่ ทีโอที ค่อนข้างประสบปัญหาด้านรายได้ค่อนข้างมากในระยะหลัง แต่เรื่องรายละเอียดการลงทุนและร่วมทุนต้องติดตามความชัดเจนในเรื่องรูปแบบและข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดต่อไป

หลังได้คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ เข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้ “ดีแทค” ต้องจับตาดูว่า “อาวุธลับ” ที่ ดีแทค จะปล่อยของออกมา คือ อะไร เพราะอีก 2 ค่าย เอไอเอส และ ทรุมุฟ เอช ก็ไม่ยอมเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560