ชงลงทุน3.3แสนล. นายกฯไฟเขียว3ท่าเรือ-รถไฟทางคู่16มิ.ย.
กรศ.เร่งขับเคลื่อนพัฒนา 3 ท่าเรือ และระบบรถไฟทางคู่เสนอ“ประยุทธ์” ไฟเขียวลงทุน16 มิ.ย.นี้ โดยดึงเอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการ
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานได้เห็นชอบการลงทุนใน3 ท่าเรือหลัก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือสัตหีบ และการเชื่อมโยงระบบรถไฟทางคู่กับ 3 ท่าเรือแบบไร้รอยต่อ
โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น การลงทุนจะเป็นในรูปแบบเอกชนเข้าร่วมลงทุน(พีพีพี) ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.41 แสนล้านบาทแบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของท่าเรือเอง 5.43 หมื่นล้านบาทและเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน8.70 หมื่นล้านบาท มีอายุสัญญาไม่ตํ่ากว่า 30 ปี ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างและบริหารท่าเรือจะเป็นในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี)เช่นกัน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของอุปกรณ์หน้าท่า และบริหารท่าในรูปแบบสัมปทาน ใช้งบลงทุนรวม 10,154 ล้านบาท
ส่วนท่าเรือสัตหีบจะใช้เงินลงทุนราว 2,041 ล้านบาทใช้พัฒนา 13 โครงการ โดยจะใช้เงินทุนหมุนเวียนของกองทัพเรือประมาณ 642 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล 1,399 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ แบบไร้รอยต่อ เพื่อเป็นประตูการค้าในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ซึ่งได้มอบหมายให้สนข.ไปศึกษากรอบแนวคิดการการพัฒนาโครงข่ายเป็น 2 ระยะโดยเป็นระยะเร่งด่วน 3 โครงการและระยะถัดไปอีก 6 โครงการรวมเม็ดเงินลงทุนราว 1.8 แสนล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 11 ปี (2560-2570)
นายคณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ทางกรศ.จะนำแนวทางการลงทุนของ 3 ท่าเรือและการเชื่อมโยง 3 ท่าเรือโดยระบบรถไฟทางคู่แบบไร้รอยต่อและการขนส่งสินค้าในภูมิภาคเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
โดยในส่วนของการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนผลการศึกษาความเป็นไปได้บางประเด็น และการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ได้ดำเนินการไป 2 ครั้งแล้ว และจะเปิดทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ภายในเดือนกันยายนนี้และคาดว่าจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกได้ประมาณเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งทางการนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ.) แจ้งว่าจะเร่งดำเนินการพัฒนาให้เสร็จเร็วขึ้น 1 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2565 ส่วนท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3ได้มีการจัดทำรายงานอีเอชไอเอเสร็จแล้วและในเดือนมิถุนายนนี้จะส่งรายงานเพิ่มเติม และคาดว่าเดือนธันวาคมปีนี้ น่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้ และจะไปเริ่มก่อสร้างในปี 2563
นายคณิศ กล่าวอีกว่าสำหรับโครงข่ายรถไฟทางคู่เชื่อมโยง 3 ท่าเรือแบบไร้รอยต่อ จะมี 3 โครงการเร่งด่วน ที่จะให้แล้วเสร็จในปี 2565 ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชาระยะทาง 125 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-มาบตาพุดระยะทาง 70 กิโลเมตร และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์(ไอซีดี) เพื่อรองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศกัมพูชา
ทั้งนี้ การเร่งพัฒนาท่าเรือและการเชื่อมโยงโดยระบบรถไฟทางคู่ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,266 วันที่ 1- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560