เคาะทุนประเดิมตั้งพรรคการเมือง 1.5 ล้านบาท

01 มิ.ย. 2560 | 10:49 น.
กรรมาธิการสนช.เคาะทุนประเดิมจัดตั้งพรรค 1.5 ล้านบาท ค่าสมาชิกพรรคปีแรก 50 บาท ปีถัดไป 100 บาท

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยว่า กมธ.ได้ลงมติกรณีทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท แต่กมธ.เห็นว่าควรแก้ไขโดยให้ยึดจากตัวเลขค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส.ของแต่ละคนในครั้งที่ผ่านมาคือ 1.5 ล้านบาท ดังนั้นทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมืองจึงขยับจาก 1 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาท

สำหรับการจ่ายทุนประเดิมพรรคไม่จำเป็นต้องนำมาจ่ายในวันจัดตั้งพรรคการเมือง สามารถนำมาจ่ายในวันที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ หากไม่ส่งผู้สมัครก็ไม่ต้องจ่าย แต่ถ้าพรรคใดไม่จ่ายทุนประเดิมจะไม่มีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยกมธ.ส่วนใหญ่เห็นด้วย ยกเว้นกมธ.ที่เป็นตัวแทนจากกรธ. และตนที่อยากให้กำหนดไว้ที่ 1 ล้านเช่นเดิม

สำหรับประเด็นค่าสมัครสมาชิกพรรค ที่ประชุมมีมติให้ยืนตามร่างของกรธ.โดยกำหนดให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกพรรคต้องเสียค่าสมัครในปีแรกไม่น้อยกว่า 50 บาท และปีถัดไปไม่น้อยกว่า 100 บาท อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่คณะกรรมาธิการเสนอปรับแก้ครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ฝั่งกรธ.สงวนคำแปรญัตติทั้งหมด จึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 11 คน ประกอบด้วยสนช. 5 คน กรธ. 5 คน และผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน เพื่อพิจารณาหาทางออกอีกครั้ง

ส่วนวิธีการคัดเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต ปรับแก้โดยยึดหลักว่าสมาชิกพรรคจะมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้สมัคร โดยจะกำหนดให้ประกาศรับสมัคร ผู้มีคุณสมบัติ แล้วส่งรายชื่อไปยังสาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด เพื่อให้สมาชิกคัดเลือกจนได้ชื่อ 2 ลำดับแรกในแต่ละเขต ก่อนส่งให้คณะกรรมการสรรหา จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เลือกชื่อลำดับแรก ต้องชี้แจงเหตุผล แต่หากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เลือกทั้ง 2 ลำดับจะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น

ขณะที่การเลือกส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น พรรคจะประกาศรับสมัครสมาชิกที่มีคุณสมบัติ จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะต้องจัดทำรายชื่อ 150 คน โดยชื่อแรกจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น และต้องส่งชื่อทั้ง 150 คนให้สาขาพรรคและตัวแทนจังหวัดคัดเลือกด้วยวิธีลงคะแนน โดยสมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้ 15 รายชื่อ เมื่อสมาชิกลงคะแนนแล้ว จะส่งกลับมาให้คณะกรรมการสรรหาจัดลำดับชื่อตามคะแนนที่ได้รับจากสมาชิก กรณีที่ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเท่ากัน ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งวิธีนี้จะแก้ปัญหาเรื่องนายทุนส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ได้ นอกจากนี้ กมธ.ยังปรับสัดส่วนของกรรมการบริหารพรรค โดยเพิ่มให้มีเลขาธิการพรรคเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย