"เจโทร"เร่งโครงสร้างพื้นฐาน EEC

02 มิ.ย. 2560 | 05:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2560 | 21:44 น.
บริษัทญี่ปุ่น 18 แห่งในหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เผย ยังไม่มีแผนลงทุนในพื้นที่อีอีซี วอนรัฐบาลสร้างความชัดเจนด้านนโยบายการลงทุนระยะยาว เร่งปรับปรุงกฎหมายและขั้นตอนการขอใบอนุญาตให้เอื้อต่อการลงทุน

นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของบริษัทที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ รวม 28 บริษัท จากทั้งหมดที่ส่งแบบสอบถาม 48 บริษัท พบว่าในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามมี 10 บริษัทที่ขยายการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี แล้ว เช่น กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มอาหาร และหากนับรวมผู้ที่ไม่ตอบแบบสอบถามจะมี 24 บริษัทที่ลงทุนในอีอีซีแล้ว ส่วนอีก 18 บริษัทที่ตอบแบบสอบถามยังไม่มีแผนการลงทุน โดยบริษัทส่วนใหญ่ถึง 22 แห่ง มองว่าสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่รัฐบาลนำมาใช้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 5 ปี หลังได้รับการลดหย่อนสูงสุด 15 ปีแล้ว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ได้เสนอแนะให้เร่งปรับปรุงขั้นตอนการขออนุญาตให้รวดเร็วขึ้น โดยหากมองมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาพรวม พบว่าสิทธิประโยชน์ของไทยดีพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

315043

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังต้องการให้รัฐบาลไทยรับประกันนโยบายการลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP รวมถึงต้องการให้เร่งพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูงมารองรับอุตสาหกรรมไฮเทคซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลไทย เตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เช่น การลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลในอัตราพิเศษให้แก่นักวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน และปรับปรุงด้านการขนส่งให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

315047

นายฮิโรคิ ยังระบุว่า ขณะนี้บรรยากาศการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องรอประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกประกอบกันด้วย ส่วนเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ จากการสอบถามไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พบว่าให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับที่ 4 รองจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกในขั้นตอนศุลกากร และสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ขณะที่การเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อีอีซี ออกไปอีก 3 เดือน จากกำหนดเดิมภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอมรับว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่นอยากเห็นความชัดเจนทุกด้านเกี่ยวกับอีอีซีโดยเร็วที่สุด