‘แพ้เลือกตั้ง-ยุติบทบาท’ ‘อภิสิทธิ์’ เดิมพันอนาคตการเมือง

04 มิ.ย. 2560 | 11:00 น.
30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวทางการเมืองโฟกัสไปที่พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมอีกครั้ง หลังแกนนำ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ยกทีมกลับพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง โดยได้รับการต้อนรับจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยรอยยิ้มและเสียงสนทนาอย่างออกรส จนอดีตส.ส.ที่ร่วมวงสนทนาในวันฟ้ามืดครึ้มและมีสายฝนโปรยปรายแทบจะลืมเสียงเล่าลือถึงรอยผลิต่างทางความคิดของสมาชิกพรรคกลุ่มหนึ่งกับการกลับคืนรังของแกนนำ กปปส.ในครั้งนี้

[caption id="attachment_155583" align="aligncenter" width="503"] กปปส.ชู‘อภิสิทธิ์’นายกฯ กปปส.ชู‘อภิสิทธิ์’นายกฯ[/caption]

โดยเฉพาะประเด็นร้อนฉ่าที่ “กำนันสุเทพ ” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) ออกมายืนยันหลักการเดิมที่เคยประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

“ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ครับ ผมแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ผมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วก็ตาม เพราะอะไรครับ เพราะผมเชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนกลางที่มีความสามารถมีความกล้าที่จะทำการปฏิรูปประเทศไทย ตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน”

เป็นประโยคเด็ดที่กำนันสุเทพ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในวันที่แกนนำ กปปส.คืนสู่เหย้าใต้ชายคาบ้านสีฟ้า กลายเป็นตัวฉุดให้สมาชิกพรรค ปชป.เริ่มหวั่นไหว กับข่าววงในที่ต่อมาแพร่สะพัดสู่สังคมเกี่ยวกับความไม่มั่นคงของเก้าอี้ “หัวหน้ามาร์ค”

IMG_1316 +กปปส.กลับมาปฏิรูปประเทศ
ก่อนที่เรื่องจะบานปลายมากไปกว่านี้ นายอภิสิทธิ์ ต้องออกมาสยบกระแสข่าว “ยึดพรรค-เปลี่ยนหัว” หลังเปิดอกสนทนากับแกนนำ กปปส. อาทิ นายถาวร เสนเนียม นายวิทยา แก้วภราดัย นายจุมพล จุลใส และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โดยนายอภิสิทธิ์ เน้นย้ำเรื่องการยึดมั่นในอุดมการณ์พรรคหลายครั้ง

“กปปส.เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมได้บอกว่าการมาอยู่กับพรรคต้องยึดอุดมการณ์ หลักการของพรรค เป้าหมายของคนเหล่านี้คือการปฏิรูปประเทศ และการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรคยึดถือและเดินหน้าปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ปชป.เป็นพรรคการเมืองบนวิถีทางประชาธิปไตย ตามโรดแมปอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งก็ต้องพร้อมเสนอบุคลากรและแนวทางให้กับประชาชน”

ส่วนแนวคิดของนายสุเทพ ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีก 5 ปีนั้น ได้พูดคุยเกี่ยวกับความเห็นของนายสุเทพ ซึ่งท่านอยู่ในส่วนของการเมืองภาคประชาชน ตอนนี้ท่านไม่ใช่อยู่ในระบบพรรคการเมืองแล้ว ส่วนแกนนำ กปปส.เมื่อเข้ามาก็ต้องอยู่ในระบบพรรคการเมือง ซึ่งคุณ ถาวร เสนเนียม ยืนยันที่จะชูธงว่า ปชป.จะปฏิรูปประเทศ

นายอภิสิทธิ์ ยังชี้แจงกระแสข่าวที่ออกมาช่วงนี้ กลุ่ม กปปส.จะกลับมายึดพรรคประชาธิปัตย์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรคว่า กปปส.ที่มา ยืนยันว่าไม่ใช่ นายสุเทพ ก็ยืนยันกับผมว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับ ปชป. เพราะออกไปทำงานภาคประชาชนแล้ว ส่วนที่นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ ระบุว่ายังไม่สามารถพูดได้ว่า จะสนับสนุนผมเป็นหัวหน้าพรรคในการเลือกผู้บริหารครั้งหน้านั้น เรื่องนี้ไม่มีสิทธิที่จะบังคับใครได้

“ เรื่องนี้ผมไม่มีสิทธิบังคับใครให้มาสนับสนุนผม สิ่งสำคัญคือ ใครก็ตามที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต้องยึดอุดมการณ์พรรค ตอนนี้คนกลุ่มนี้ก็บอกแล้วว่า สนับสนุนคนที่มีรายชื่ออยู่ในพรรคเป็นนายกฯ ผมจึงไม่กังวลว่า จะมีใครมาแข่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ ประชาธิปัตย์อยู่มาได้เพราะความเป็นประชาธิปไตย มั่นใจว่าสมาชิกพรรคทุกคนจะตระหนักว่า พรรคอยู่มาได้เพราะอุดมการณ์ จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ พรรคเราเป็นสถาบันไม่เคยเป็นพรรคเฉพาะกิจ จะทำตัวเหมือนพรรคเฉพาะกิจไม่ได้”

IMG_1318 +แพ้เลือกตั้ง-ยุติการเมือง
หากย้อนไปดูท่าทีของนายอภิสิทธิ์ ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “การสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพการเป็นนักการเมือง” แก่นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อปี 2558 นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวถึงเส้นทางการเมืองกว่า 23 ปีในพรรคประชาธิปัตย์ว่า

“ตั้งแต่เข้ามาทำงานการเมืองมากว่า 23 ปี ไม่มีช่วงไหนที่คนยกย่องสรรเสริญนักการเมือง และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการเมืองในช่วง 10 ปีหลังที่มีระบอบทักษิณเข้ามา ทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนไปให้ได้ ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็พร้อมลงสมัครอย่างแน่นอน แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็ต้องยุติหน้าที่ทางการเมืองลง ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้านมาแล้ว 3 ครั้ง เป็นครั้งที่ 4 อีกไม่ได้ ทั้งนี้ หากได้ทำงานอีกก็จะทำอย่างเต็มที่ ซึ่งจากการทำงานการเมืองมา 23 ปี ในภาพรวมยังไม่พอใจ แต่สิ่งที่เคยทำไปก็ไม่ได้สูญเปล่า”

วลีที่ว่า “ถ้าทำไม่สำเร็จก็ต้องยุติหน้าที่ทางการเมืองลง”น่าจะจับหลักคิดบนเส้นทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ในการเลือกตั้งสมัยหน้าได้ไม่ยาก

**‘เราต้องต่อสู้กับระบบทักษิณ’
น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับการพบปะพูดคุยระหว่างแกนนำกปปส. กับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ว่า ได้มีการปรับความเข้าใจกันหลายเรื่อง ใน8 ประเด็น ประกอบด้วย

1.พี่ๆน้องๆ กปปส.ก็คือสมาชิกพรรค อดีตส.ส.ของพรรคที่ไปทำภารกิจเพื่อประเทศชาติ เมื่อเสร็จภารกิจก็กลับบ้าน บรรยากาศในภาพรวมเป็นบรรยากาศที่ดี ที่มีการพูดคุยให้เกิดความเข้าในกัน

2.ได้รับการยืนยันจากกปปส.ต่อกระแสข่าวเรื่องการมายึดพรรค หรือเปลี่ยนผู้บริหารพรรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการสร้างข่าวขึ้นมา และในความเป็นจริงของพรรค ที่มาของผู้บริหารพรรคจะต้องมาจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค ไม่ใช่ใครอยากจะมายึดก็ยึดได้

3.ได้มีการปรับความเข้าใจต่อท่าทีของพรรคและกปปส. นั่นคือ เราต้องต่อสู้กับระบอบทักษิณ (ระบอบทุนสามานย์และประชาธิปไตยจอมปลอม)และมีเป้าหมายปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน

4.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าสมาชิกพรรคต้องสนับสนุนท่านหัวหน้าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าพรรคไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เพียงพอ ก็เป็นเรื่องของอนาคตและมติพรรค

IMG_1319 5.สำหรับท่านอื่นๆ ที่จะเสนอคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่แปลก เพราะแต่ละฝ่ายย่อมมีความคิดต่างได้ ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชนตัดสิน แต่สมาชิกพรรคเราต้องเป็นเอกภาพ ในการเสนอท่านหัวหน้า

6.เรื่องสำคัญที่มีการพูดคุยกันมาก เนื่องจากพรรคให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ดังนั้นผู้ที่แสดงความเห็นต้องตระหนักว่า เนื้อหาที่เสนอออกไป ต้องทำให้พรรคได้รับคะแนนนิยมที่ดี ไม่ทำให้พรรคแตกแยก ไม่ควรเสนอความคิดเห็นเพียงเพื่อตอบโต้โดยไม่จำเป็น

7.เนื่องจากปัจจุบันนี้มีกลุ่มการเมืองที่หลากหลายมาก มุมมองทางการเมืองย่อมตรงและไม่ตรงกับพรรค การแสดงความเห็นต่างในแต่ละครั้งต้องตั้งหลักว่าพูดแล้วพรรคต้องได้ ส่วนกลุ่มที่เห็นต่างจากพรรค ถ้าประเมินแล้วเขามีความหวังดีต่อประเทศก็ไม่ควรออกไปทะเลาะกับเขาโดยไม่จำเป็น

8.พี่ๆ น้องๆ ที่มีการพูดคุยกัน รับปากร่วมกันว่าจะเข้ามาพูดคุยกันที่พรรคให้บ่อยขึ้น เพื่อให้พรรคมีเอกภาพในการขับเคลื่อน และปรับความคิดต่าง

“ผมว่าเคลียร์แล้วนะเราคุยกันว่าเรามาเป็นระบบพรรคการเมือง แน่นอนในการจัดการเลือกตั้งเราก็ต้องชูหัวหน้าพรรค ถ้าพรรคการเมืองไม่ชูกันเองก็ผิดปกติเพียงแต่ว่าถ้าสามารถรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จบ แต่ถ้ารวบรวมไม่ได้อันนี้เป็นเรื่องในอนาคต แล้วแต่มติพรรค เราต้องมาคุยอีกที”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560